ถอดรหัส McDonald’s เชนร้านอาหารฟาสต์ฟูด สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก

ทำไมวันนี้ McDonald’s ไม่ใช่ธุรกิจขายแฮมเบอร์เกอร์?…

“…คุณไม่ต้องการสร้างความมั่งคั่ง 1.4% จากการขายแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นละ 15 เซนต์ แต่คุณต้องการสร้างความมั่งคั่งจากการปล่อยเช่าที่ดินและอาคาร ให้ผู้คนมาขายแฮมเบอร์เกอร์ให้แก่คุณ ต่างหาก…”

นี่คือ แนวคิดโมเดลธุรกิจแบบจบในประโยคเดียว ของกลุ่มผู้บุกเบิกรุ่นแรกของ McDonald’s (แมคโดนัลด์) ที่ขยายสู่ร้านฟาสต์ฟูดขายแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนมากกว่า 38,000 สาขาทั่วโลก และมีมูลค่ากิจการสูงกว่า 6.5 ล้านล้านบาท พวกเขากำลังจะบอกว่า McDonald’s ไม่ได้ร่ำรวยจากการทำธุรกิจเชนฟาสต์ฟู้ดแฮมเบอร์เกอร์ แต่ความมั่งคั่งที่แท้จริงของ McDonald’s คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการทำเงินจากค่าเช่าที่ดินและอาคารจำนวนมหาศาล



จุดเริ่มต้นของเชนฟาสต์ฟูด McDonald’s

ย้อนกลับไปในปี 1954 : Raymond Albert Kroc หรือรู้จักกันในนามสั้น ๆ ว่า Ray Kroc ทำอาชีพเป็นพนักงานขายเครื่องทำ มิลค์เชค ประสิทธิภาพสูง สรรพคุณทำมิลค์เชคได้ 8 แก้วต่อครั้ง

แต่ผลิตภัณฑ์นั้นก็ใช่ว่าจะขายง่าย ๆ ในสมัยนั้น เพราะการแข่งขันธุรกิจอาหารไม่ได้สูงมาก เจ้าของร้านยังไม่เห็นปัญหาของการที่ลูกค้าต้องรออาหารและเครื่องดื่มนาน ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง Ray Kroc ได้รับโทรศัพท์ขอสั่งซื้อเครื่องทำมิลค์เชคจำนวนหลายเครื่อง เขาสงสัยมากว่าร้านของลูกค้ารายนี้ต้องใหญ่และขายดีแค่ไหนจึงต้องใช้หลายเครื่องพร้อมกัน

Ray Kroc รู้สึกเปิดโลกอย่างมากเมื่อได้ไปเห็นร้านของลูกค้ารายนี้

เจ้าของ คือ สองพี่น้อง Dick และ Mac นามสกุล McDonald เจ้าของร้านอาหารในชื่อเดียวกัน คือ McDonald’s

เป็นร้านอาหารขนาดไม่เล็ก แต่สองพี่น้องมีแนวคิดเรื่องการผลิตและเสิร์ฟอาหารให้เร็วที่สุด เลือกเมนูเบอร์เกอร์เพราะทำได้เร็ว รวมไปถึงออกแบบครัวและระบบการทำอาหารให้สามารถผลิตเบอร์เกอร์ภายในเวลาเพียง 30 วินาทีต่อชิ้น!

McDonald’s สู่โมเดลธุรกิจแฟรนไชน์

Ray Kroc ตื่นเต้นในแนวคิดดังกล่าว และมองเห็นโอกาสในการทำร้านอาหารแบบนี้ให้กลายเป็นระบบแฟรนไชน์

เขาจึงเสนอไอเดียธุรกิจ McDonald’s ระบบแฟรนไชน์ โดยเขาขอร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ และจะทำหน้าที่นำแฟรนไชน์ McDonald’s ไปออกขาย พร้อมทั้งรับผิดชอบเรื่องการอบรมธุรกิจแก่ผู้ซื้อแฟรนไชน์เอง

หลังจากมีการพูดคุย ถกเถียง และเจรจาจนหาข้อตกลงและส่วนแบ่งกันได้ สองพี่น้องก็ตอบตกลง

Ray Kroc มีสิทธิเสนอขายแฟรนไชน์ McDonald’s แก่ผู้คนในสหรัฐ โดยรายได้ของเขามาจากค่านายหน้าปิดดีลแฟรนไชน์สำเร็จ เงินจำนวนนี้ได้รับครั้งเดียว และส่วนแบ่งจากยอดขายของร้านค้า ส่วนนี้ได้รับต่อเนื่อง

ภายในเวลาไม่กี่ปี Ray สามารถขายแฟรนไชน์ McDonald’s จำนวน 228 สาขาในสหรัฐ

แต่กระนั้น เขากลับไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมากเลย เพราะต้นทุนการฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ที่เขาต้องแบกรับมันสูงมาก เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งไม่กี่เปอร์เซนต์จากยอดขายเบอร์เกอร์ชิ้นละไม่กี่สิบเซนต์

ที่ปรึกษาประจำตัวเห็นเช่นนั้นจึงพูดกับ Ray ว่า “…คุณนี่ช่างไม่รู้อะไรเสียเลย จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้ทำธุรกิจขายเบอร์เกอร์…”

Ray จึงถามกลับไปว่า “…แล้วฉันกำลังทำธุรกิจอะไรอยู่…”

ที่ปรึกษาของเขาตอบว่า “…คุณกำลังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์…”

Ray Kroc เป็นคนฉลาดอยู่แล้ว เพียงแต่บางครั้งอาจต้องการคนมาสะกิดไอเดียนิด ๆ หน่อย ๆ ซึ่งเมื่อที่ปรึกษาช่วยสะกิดไอเดีย เขาก็เข้าใจได้ทันที และรู้สึกเปิดโลกอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของตน อย่างไม่มีความลังเล

McDonald’s สู่โมเดลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

Ray Kroc ทำการเจรจารูปแบบการทำงานใหม่กับ Dick และ Mac

อาทิ โอนย้ายความรับผิดชอบเรื่องการอบรมดูแลทรัพยากรบุคคลกลับไปเป็นหน้าที่ของเจ้าของแบรนด์รับผิดชอบ ส่วนเขาจะรับผิดชอบด้านการลงทุนในที่ดิน และอาคารของผู้ซื้อแฟรนไชน์ทั้งหมด

Ray Kroc ก่อตั้งบริษัท Franchise Realty Corporation ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับร้านอาหารโดยเฉพาะ

ในช่วงแรก อาจยังไม่มีเงินทุนสำหรับซื้อขาดที่ดินต่าง ๆ จึงใช้วิธีทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว เช่น 10 ปี และปล่อยเช่าที่ดิน และอาคารให้แก่ผู้มาซื้อแฟรนไชน์ เป็นต้น โดยคิดค่าเช่าบวกไปอีก 20 – 40% จากต้นทุนค่าเช่าเดิม และยังเก็บส่วนแบ่งจากยอดขายอาหาร อีกด้วย

ในปี 1961 ความสัมพันธ์ระหว่าง Ray Kroc และสองพี่น้อง McDonald’s ตึงเครียดถึงขีดสุดจากปัญหาสะสมหลาย ๆ อย่าง

อาทิ สองพี่น้องเบื่อหน่ายกับปัญหาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ขยายตัวมากขึ้นตามจำนวนสาขาที่ Ray Kroc เปิดตลาดได้ รวมถึงปัญหาสุขภาพ และอื่น ๆ

ทำให้พวกเขาทำการเจรจา และตกลงกันที่การขายกิจการ McDonald’s ทั้งหมดให้ Ray Kroc ในราคา 2.7 ล้านดอลล่าร์ ส่งผลให้ Ray Kroc เป็นเจ้าของ McDonald’s เต็มตัวนับแต่นั้นมา

สรุป McDonald’s ไม่ใช่ธุรกิจอาหารแต่คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“…เพราะขนมปังสำหรับทำเบอร์เกอร์นั้นมีราคาถูก แต่ที่ดินย่าน ไทม์สแคว์ มีแต่จะราคาแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ…”

ปัจจุบัน ปี 2022 – McDonald’s มีมูลค่ากิจการ 187,000 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 6.5 ล้านล้านบาท รายได้ปี 2021 ประมาณ 8 แสนล้านบาทเศษ

มีสาขามากกว่า 38,000 สาขาทั่วโลก ได้จับจองที่ดินและอาคารในพื้นที่สำคัญ ๆ และมีมูลค่าเพิ่มมากมาย อาทิ ไทม์สแคว์ แห่ง นิวยอร์ก เป็นต้น ฯลฯ

สมมุติว่า วันหนึ่งธุรกิจแฮมเบอร์เกอร์จะถดถอย แต่มูลค่าธุรกิจ McDonald’s คงไม่ตกต่ำไปมากนัก เพราะกิจการแห่งนี้มีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ได้แก่ อาคารและที่ดิน ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนรูปแบบในการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ นา ๆ

เพราะ McDonald’s ในวันนี้ คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

คุณอาจสนใจ

อ้างอิง



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save