นาย วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยในการประชุมนักวิเคราะห์ ครั้งที่ 4 ว่าด้วยสาเหตุและมาตราการรับมือค่าเงินบาทแข็ง โดยเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ สงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน, สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง, การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ตั้งแต่ต้นปีเกินดุลแล้ว 25,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเงินทุนที่ไหลเข้า อาทิ การไหลเข้าของเงินทุนในหุ้น และหลักทรัพย์ เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ จึงมีเงินไหลเข้าเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย, รวมไปถึงการไหลเข้าของเงินทุนโดยตรง หรือ เอฟดีไอที่เพิ่มขึ้น
“ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นทั้งการนำเงินเข้ามาลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาประเทศไทย และการเข้ามาซื้อกิจการบริษัทไทยของทุนต่างประเทศ โดย 2-3 วันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็มาจากนักลงทุนต่างประเทศ นำเงินเข้ามาเพื่อลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนั้น เงินทุนต่างชาติอีกส่วนที่มักจะเข้ามาในช่วงที่มีความผันผวน นักลงทุนต้องการ ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย คือเงินที่เข้ามาผ่านการซื้อขายทองคำ โดยเฉพาะนักลงทุนไทยที่นิยมลงทุนในทองคำอยู่แล้ว โดยจากการเกินดุลบัญชี เดินสะพัดในปีนี้ 25,500 ล้านเหรียญฯ เป็นส่วนของทองคำ มากถึง 4,000-5,000 ล้านเหรียญฯ” – นาย วิรไท สันติประภพ กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า ในส่วนของเงินระยะสั้นที่เข้ามาลงทุนในหุ้นและพันธบัตรนั้น ธปท. ได้ออกมาตรการเพื่อดูแลการพักเงินระยะสั้น ทำให้ตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึงปัจจุบัน เงินส่วนนี้กลายเป็นไหลออกสุทธิ 4,500 ล้านเหรียญฯ และ ธปท.กำลังพิจารณามาตรการผ่อนคลายการไหลอออกของเงินทุน และลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทเพิ่มใน 3 กลุ่ม ได้แก่
1. เร่งเปิดเสรีการนำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ มี 3 มาตรการย่อย คือ
- การผ่อนคลายเกณฑ์ให้นักลงทุนนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ทั้งการลงทุนผ่านสถาบัน และการลงทุนด้วยตนเอง
- การขยายระยะเวลาการพักเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
- เพิ่มผู้เล่นในตลาด ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างการแข่งขัน และช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนในการซื้อขายเงินต่างประเทศ
2 ดูแลเงินทุนที่ไหลเข้าจากการซื้อขายทองคำ ซึ่งเป็นแรงกดดันที่เข้ามาซ้ำเติมค่าเงินบาท แต่จะเป็นเพียงมาตรการที่ลดแรงกระแทกในช่วงที่กดดันเงินบาทเท่านั้น โดยยืนยันว่าไม่ใช่การห้ามซื้อขายหรือมีผลกระทบต่อการซื้อขายทองคำ
3 ประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนอื่น ๆ เพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด กระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ เทคโนโลยีและเครื่องจักรมากขึ้น โดยโครงการที่ตนเห็นว่าควรจะเร่งการลงทุน คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมที่รองรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IOT ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นแนวโน้มที่ภาคเอกชนต้องการลงทุน นอกจากนั้น อีกส่วนหนึ่งคือ การปฏิรูปกฎหมายและลดกติกาที่เป็นต้นทุนแฝงของภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วย ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แข่งขันกับรายใหญ่ได้ดีขึ้น
ธปท. ยืนยันว่าติดตามสถานการณ์เงินทุนและค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และมาตราการต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตราการแรกจะทยอยออกมาใช้งานได้ในระยะเวลา 1 – 2 เดือนจากนี้เป็นต้นไป