นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักวง BNK48 นักร้องเกิร์ลกรุ๊ปไอดอลที่มาแรงสุด ๆ ในขณะนี้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าวง BNK48 มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น จากวงที่ชื่อว่า AKB48 วันนี้ CEO Blog ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจของวง AKB48 เริ่มตั้งแต่วันก่อตั้งจนผ่านกาลเวลามาถึง 12 ปี มีการขายแฟรนไชส์ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยความน่ารักสดใสของศิลปินในวง ทำให้มีแฟนคลับติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ในปัจจุบันนี้ การฟังเพลงจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบดิจิตอลแล้ว แต่ทำไม ซีดีเพลงของวงเกิร์ลกรุ๊ปเหล่านี้จึงขายดี ทำยอดขายได้ถล่มทะลาย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองในวงการเพลงยุคนี้เลยทีเดียว
กำเนิด AKB48
AKB48 ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดยโปรดิวเซอร์ที่ชื่อว่า Yasushi Akimoto (หรือชื่อเล่นว่า อากิพี ที่ย่อมาจาก Akimoto Producer) โดยมีคอนเซ็ปของวงคือ IDOLS YOU CAN MEET หรือ ‘ไอดอลที่คุณเข้าถึงได้’ ซึ่งแตกต่างจากไอดอลทั่วไป ที่จะพบเจอได้ตามคอนเสิร์ต งานอีเว้นท์ หรือตามสื่อต่าง ๆ เช่น ทีวี แต่ AKB48 จะสามารถพบเจอได้แทบทุกวันที่โรงละครของ AKB48 เอง โดยโรงละครนี้จะเรียกว่า เธียร์เตอร์ ที่ถูกสร้างมาสำหรับเป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตของเหล่าไอดอล AKB48 โดยเฉพาะ โดยจะมีการแสดงทุกวัน ผลัดเปลี่ยนกันไประหว่างคนในทีม
ทำไมต้องเป็นเลข 48
AKB48 อ่านว่า เอ-เค-บี-โฟร์-ตี-เอต โดย AKB มาจากชื่อย่าน อากิฮาบาระ ในกรุงโตเกียว ที่เป็นย่านจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้า เกม ของเล่น และการ์ตูน (ถือเป็นสวรรค์ของเหล่าโอตาคุเลยทีเดียว) ส่วนตัวเลข 48 นั้น ไม่ได้หมายความว่า มีสมาชิก 48 คน แต่ตัวเลขนี้มาจากนามสกุลของประธานบริษัท Office48 (ที่เป็นเจ้าของวง) ที่มีชื่อว่า Shiba Kotaro (芝幸太郎) โดยที่ตัวเลขนี้มาจากคำที่เขียนด้วยตัวคันจิที่แปลว่าสนามหญ้า ตัวนี้ 芝 อ่านว่า しば, Shiba (ชิบะ) ซึ่งพ้องเสียงกับ Shi และ ba ที่เป็นตัวเลข 4 และ 8 นั่นเอง
48 ไม่ใช่จำนวนสมาชิกในวง เพราะสมาชิกในวงจริง ๆ มีมากกว่า 100 คน!
ในการเปิดการแสดงที่ AKB48 เธียร์เตอร์ครั้งแรกนั้น มีคนดูเพียง 7 คนเท่านั้น แต่อากิพีและสาว ๆ ใช้เวลา 7 ปี ในการก้าวสู่การเปิดแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ที่โตเกียวโดม และเป็นการแสดงคอนเสิร์ตถึง 3 คืนติดต่อกัน ซึ่งคอนเสิร์ตนั้นมีชื่อว่า AKB48 in TOKYO DOME ~1830m no Yume~ โดย 1830m คือระยะทาง 1830 เมตร จาก เธียร์เตอร์ของเหล่า AKB48 ถึงโตเกียวโดม
AKB48 Theater เธียร์เตอร์สำหรับจัดแสดงของสาว ๆ AKB48 โดยเฉพาะ รองรับผู้ชมได้ประมาณ 250 คน ราคาต่อที่นั่ง ในปี 2005 คือ 3000 เยนเท่านั้น (ประมาณ 868 บาท)
นี่คือ VTR เปิดตัวในคอนเสิร์ตนั้น
โมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง
อากิพี และ Office48 มีการออกแบบและวางโครงสร้างของ AKB48 มาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เป็นแหล่งรวมไอดอลที่จับต้องได้ เข้าถึงง่าย เหมือนฝันที่เป็นจริง โดยตั้งใจจะทำ AKB48 ให้เป็นแบรนด์ ไม่ใช่แค่วงเกิร์ลกรุ๊ป ดังนั้น วง AKB48 จึงจะไม่ยึดติดกับตัวบุคคล เหมือนวงเกิร์ลกรุ๊ปวงอื่น ๆ และเมื่อตั้งเป้าให้เป็นแบรนด์ที่ไม่ยึดติดกับตัวบุคคลแล้ว จึงทำให้ วง (หรือบริษัท) จะเป็นคนเลือกไอดอลเข้ามาร่วมงานกับวง โดยเปิดให้ออดิชั่น หรือแสดงความสามารถเพื่อให้ได้รับคัดเลือกเข้ามาร่วมงาน
และเมื่อผ่านการออดิชั่นแล้ว ยังต้องพบเจอกับระบบการแข่งขันความสามารถ เพื่อค้นหาว่าใครจะเป็นตัวจริง ตัวหลัก โดยจะแบ่งระดับของสมาชิกเป็น เด็กฝึกหัด, สมาชิกทั่วไป, หัวหน้าทีม และกัปตัน โดยทุกคนจะมีช่วงเวลาที่จะอยู่กับวง เหมือนการเข้ามาเรียน และมีการจบการศึกษา ก็ต้องอำลาวงไปเพื่อให้น้อง ๆ รุ่นใหม่ ขึ้นมาทำหน้าที่แทน
แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไอดอลไปกี่รุ่น จะมีใครเข้าใหม่หรือลาออกไป แต่วงก็จะยังอยู่ และไม่ว่ารุ่นไหนก็สามารถขึ้นมาร้องเพลงของวงได้ นับเป็นโมเดลที่มีความแข็งแกร่งมาก ๆ
เมื่อได้โมเดลที่มีความลงตัวแล้ว จึงพัฒนาจนกลายเป็นโมดูล ที่สามารถทำซ้ำได้ แล้วจึงขยายขอบเขตออกไปยังประเทศต่าง ๆ เหมือนการขายแฟรนไชส์ ที่มีต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากประเทศญี่ปุ่น
ระบบการคัดตัว และศัพท์ที่ใช้เรียกแบ่งระดับของไอดอล
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2005 อากิพี ได้เปิดให้มีการออดิชั่นเป็นครั้งแรก โดยในครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมถึง 7,924 คน ซึ่งจะคัดเลือกผู้สมัครที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปที่ยังอยู่ในวัยเรียนเท่านั้น (อายุไม่เกิน 23ปี) โดยรอบแรกมีผู้ผ่านเข้ารอบคักเลือก 54 คน และทำการคัดตัวอีกรอบให้เหลือ 24 คน จนถึงรอบสุดท้ายมีผู้ผ่านการออดิชั่นเพียง 20 คน เท่านั้น โดย 20 คนนี้จะได้อยู่ในทีม A ที่เป็นตัวแทนของอิสรภาพ ต่อมาในเดือนธันวาคม มีการออดิชั่นครั้งที่ 2 มีผู้สมัครทั้งหมด 11,892 คน มี 19 คนได้รับการคัดเลือก และ 18 คนได้รับการเลื่อนขึ้นไปเป็นสมาชิกทีม K ที่เป็นตัวแทนของพลังและความแข็งแกร่ง
ในเดือนตุลาคมปี 2006 จึงมีการออดิชั่นครั้งที่ 3 ได้สมาชิกมาเพิ่มอีก 18 คน เป็นทีม B ที่เป็นตัวแทนของความน่ารักและความเป็นไอดอล เดิมทีทางวงตั้งใจว่าจะให้มีสมาชิกทีมละ 16 คน เท่านั้น เพื่อให้รวมกัน 3 ทีมแล้วได้สมาชิก 48 คน พอดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป สมาชิกกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิน 120 คนในปัจจุบัน
โดยนอกจากทีม A ทีม K และ ทีม B แล้ว ปัจจุบันยังมี ทีม 4 (โฟร์) และ ทีม 8 (เอต) ด้วย ตามตัวอักษร AKB48 เลย โดยในปี 2017 AKB48 มีสมาชิกทั้งหมด 139 คน แบ่งเป็นทีม A 16 คน ทีม K 17 คน ทีม B 15 คน ทีมโฟร์(4) 19คน และทีมเอต(8) 47 คน และยังมีสมาชิกเค็งคิวเซย์อีก 25 คน เพื่อเป็นตัวสำรองให้กับทีมหลัก
กัปตัน,เซ็นเตอร์,เซ็มบัตสึ และเค็งคิวเซย์ คืออะไร? การเลือกตั้งคืออะไร?
ระบบสมาชิกของวง AKB48 มีความซับซ้อน และมีศัพท์เรียกเฉพาะ เราจะไล่ไปตั้งแต่
ตำแหน่งโซคันโตคุ
เป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของ AKB48 เป็นกัปตันของ 48กรุ๊ปเลยทีเดียว เป็นผู้นำขอทุกวง รวมถึงวงน้องสาวทุกวงด้วย เริ่มแรกนั้นยังไม่มีตำแหน่งนี้ ผู้นำสูงสุดก็จะเป็นกัปตันทีม A ต่อมาในปี 2012 จึงมีการประกาศแต่งตั้งตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้เป็นคนแรกคือ ทาคาฮาชิ มินามิ
กัปตัน
เป็นตำแหน่งหัวหน้าของทีม มีหน้าที่คอยควบคุมดูแลเพื่อน ๆ ในเรื่องการฝึกซ้อม และการแสดง รวมถึงการวางตัวในฐานะไอดอล โดยกัปตันจะต้องเป็นคนรับแรงกดดัน และต้องมีความรับผิดชอบสูง โดย 1ทีม จะมีกัปตัน 1 คน และรองกับตันอีก 1 คน AKB48 จึงมีกัปตันทั้งหมด 5 คน จาก 5 ทีม
เซ็นเตอร์
หมายถึง คนที่อยู่ในตำแหน่งที่เด่นที่สุด อยู่ตรงกลางในการแสดงสด ในการเต้น หรือในมิวสิควิดีโอ ซึ่งอาจจะไม่ใช่กัปตันก็ได้ โดยตำแหน่งเซ็นเตอร์จะดูตามความเหมาะสมและความสามารถเป็นหลัก และอาจจะมาจากการเลือกตั้ง(การโหวตของแฟน ๆ) ก็ได้ บางครั้งก็มอบตำแหน่งเซ็นเตอร์ในเพลงใดเพลงหนึ่งให้กับสมาชิกที่กำลังจะจบการศึกษาเพื่อเป็นการอำลาวง
เซ็มบัตสึ
หมายถึง สมาชิกที่ได้รับเลือกให้มีส่วนร่วมกับซิงเกิลเพลงนั้น ๆ เนื่องจากสมาชิกของ AKB48 มีจำนวนมาก จึงต้องมีการคัดเลือกผู้ที่จะได้มีส่วนร่วมกับเพลงนั้น ๆ การจะได้เป็นเซ็มบัตสึนั้นมีหลายช่องทาง เช่นการเลือกตั้ง หรือโปรดิวเซอร์แต่งตั้ง หรือกัปตันทีมเลือกเองตามความเหมาะสม และบางครั้งก็มาจากการเป่ายิงฉุบ ที่จัดขึ้นเพื่อให้สมาชิกที่อาจจะไม่โดดเด่นแต่ดวงดี ได้เข้าร่วมเป็นตัวหลักในซิงเกิลนั้น ๆ ซึ่งก็จะช่วยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
มีเดียเซ็มบัตสึ
คือผุ้ที่ได้รับเลือกให้ออกสื่อ ในฐานะตัวแทนของวง ซึ่งก็มักจะเป็นตัวเด่น ๆ ที่ปรากฏตัวใน MV อยู่แล้ว โดย มีเดียเซ็มบัตสึจะมาจากผลการเลือกตั้งของแฟน ๆ
เค็งคิวเซย์
หมายถึง เด็กฝึกหัด หรือสมาชิกใหม่ที่เพิ่งจะผ่านการคัดเลือกรอบออดิชั่นมา ยังไม่มีประสบการณ์ ยังต้องการการฝึกฝนอีกมาก มีหน้าที่คอยซัพพอร์ตสมาชิกในทีมหลัก หรือคอยเสริมตำแหน่งให้ทีมหลักกรณีที่ตัวหลักในทีมไม่สามารถแสดงได้ และมีหน้าที่แสดงในเธียร์เตอร์ จนกว่าจะมีฐานแฟนของตนเอง และได้รับเลือกตั้งให้ขึ้นไปอยู่ในทีมหลัก ทดแทนรุ่นพี่ที่จบการศึกษาออกไป
เม็มเบอร์
หมายถึงสมาชิกวงทุกคน โดยเรียกรวม ๆ ว่าเม็มเบอร์ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม
การเลือกตั้ง
หมายถึง การโหวตจากแฟน ๆ ซึ่งวิธีโหวตนั้นมีวิธีเดียวคือ นำรหัสจากแผ่นซีดี ไปโหวตในเว็บไซต์เท่านั้น ซึ่งเหล่าโอตะ(แฟน ๆ ผู้คลั่งไคล้) และเป็นสายเปย์ จะซื้อซีดีหลายีร้อยแผ่นเพื่อโหวตให้ไอดอลที่ตนเองชื่นชอบได้เป็น เซ็มบัตสึ หรือเป็นสมาชิกทีมหลัก โดยซีดีที่ซื้อไปซ้ำ ๆ กันจำนวนมาก โอตะเหล่านี้จะนำไปแจกให้กับคนที่ยังไม่เคยฟัง ตามงานอีเว้นท์ต่าง ๆ ก็ถือเป็นการช่วยเผยแพร่ผลงานของศิลปินอีกทางหนึ่งด้วย โดยในงานเลือกตั้งแต่ละปีจะมีจำนวนโหวตไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ล้านโหวต นับตั้งแต่ปี 2012 (1โหวตก็คือซีดี 1 แผ่น) นี่คือช่องทางการสร้างยอดขายแผ่นซีดีซิงเกิลที่คาดไม่ถึงจริง ๆ
การจบการศึกษา
หมายถึงสมาชิกวงที่เติบโตขึ้น และมีอายุมากขึ้น(ส่วนใหญ่คืออายุเกิน 20ปีแล้ว) สามารถออกจากวงเพื่อที่จะไปทำตามความฝันของตนเองต่อไป โดยเค็งคิวเซย์รุ่นใหม่ก็จะได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามารับตำแหน่งแทน
และนับจากปี 2005 มีการออดิชั่นรับเค็งคิวเซย์เข้ามาแล้ว 15 รุ่น
ทำไมต้องมีงานจับมือไอดอล?
งานจับมือ (握手会 อาคุชูไค) เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อให้แฟน ๆ ได้จับมือกับศิลปินไอดอลในดวงใจ โดยงานนี้มีที่มาจาก การที่เหล่าศิลปิน AKB48 แสดงอยู่ในเธียร์เตอร์ และเกิดเหตุขัดข้องจนทำให้ไม่สามารถแสดงได้ และพวกเธอเองไม่อยากให้แฟน ๆ ที่อุตสาห์มาต้องกลับบ้านมือเปล่า จึงได้ให้แฟน ๆ เข้ามาจับมือทักทายให้กำลังใจกับเหล่าสมาชิกได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากิจกรรมจับมือไอดอลก็กลายเป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้
โดยจะแบ่งออกเป็นงานจับมือทั่วประเทศ และงานจับมือเดี่ยว งานจับมือทั่วประเทศคนที่จะเข้าร่วมได้นั้นจะต้องซื้อ ซีดีรุ่นลิมิเต็ด จึงจะได้บัตรในการเข้างาน ซึ่งเฉพาะงานนี้ก็มีคนเข้าร่วมนับหมื่นคนเลยทีเดียว ผุ้ที่ได้สิทธิในการจับมือไอดอลจะไปเข้าแถวต่อกัน เราจะได้จับมือกับไอดอลที่เราชื่นชอบและได้พูดคุยกันประมาณ 3 วินาที (อาจจะเกินได้นิดหน่อยขึ้นกับความเหมาะสม) และจะถูกเชิญออกเพื่อให้สิทธิกับคนต่อไป
ส่วนงานจับมือเดี่ยวจะเป็นงานเอ็กซ์คลูซีฟกว่านั้น บัตรเข้างานจะมาพร้อมกับซีดีรุ่นเธียร์เตอร์ซึ่งมีจำนวนจำกัดและต้องจองล่วงหน้านานนับเดือน ในขั้นตอนการจองก็ต้องระบุเลยว่าต้องการจับมือกับไอดอลคนไหน โดยจะได้เวลาในการจับมือและพูดคุยนาน 10 วินาที
จำนวนคนที่มาเข้าแถวรอในงานจับมือทั่วประเทศ
ที่มา http://koushinbi-mitei.blog.so-net.ne.jp/2014-07-06
รอมาทั้งวันเพื่อวินาทีนี้!
ที่มา http://koushinbi-mitei.blog.so-net.ne.jp/2014-07-06
วงน้องสาวคืออะไร?
เมื่อ AKB48 ประสบความสำเร็จ และได้พิสูจน์แล้วว่าโมเดลนี้ทำเงินได้ จึงต่อยอดด้วยการก็อปปี้ โมดูล นี้ทำซ้ำในที่ต่าง ๆ โดยเรียกว่า วงน้องสาว โดยวางแผนจะมีวงน้องสาวในประเทศญี่ปุ่น 5 วง และในต่างประเทศอีก 5 วง ซึ่งจะเรียกว่า 48กรุ๊ป
โดยในประเทศประกอบด้วยวง SKE48 ที่มีเธียร์เตอร์อยู่ที่ Sakae, Nagoya วง NMA49 มาจาก Namba วง HKT48 มาจาก Halata วง NGT48 มาจาก Niigata และวงล่าสุดคือวง STU48 ซึ่งไม่ได้มีธียร์เตอร์อยู่ในเมือง แต่เธียร์เตอร์จะอยู่บนเรือแทน ก่อนหน้านี้มีวง SDN48 ที่ย่อมาจาก SaturDay Night ที่จะเปิดแสดงที่อากิฮาบาระ ทุกคืนวันเสาร์ เป็นไอดอลแนวผู้ใหญ่ที่เน้นความเซ็กซี่ เยาวชนไม่สามารถเข้าชมการแสดงได้ แต่ปัจจุบันวงนี้ได้ยุบไปแล
วงน้องสาวในต่างประเทศประกอบไปด้วย JKT48 จากกรุงจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย ตามมาด้วยวง SNH48 จากเมืองเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน แต่ภายหลังได้มีการยกเลิกสัญญาจาก AKB48 ไม่ให้เป็นวงน้องสาวอีกต่อไปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2016 ซึ่งทาง SNH48 ก็ได้ประกาศว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับวง AKB48 มาตั้งแต่แรกแล้วและไม่เคยทำสัญญาใดๆต่อกันมาก่อน นอกจากนี้ทาง AKB48 ยังได้ประกาศจัดตั้งวงน้องสาวใหม่อีก 3 วง คือ BNK48 จากกรุงเทพมหานครประเทศไทย MNL48 จากกรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์ และ TPE48 จากกรุงไทเป ไต้หวัน ครบ 5 วงตามเดิมที่ตั้งใจไว้
และล่าสุดในวันที่ 27 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา AKB48 ได้ประกาศผ่านแอปพลิเคชัน Showroom ถึงการก่อตั้งวง MUM48 ประจำเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่จะก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2018 นี้
#คุกกี้เสี่ยงทาย ทั้ง 4 เวอร์ชั่น Koisuru Fortune Cookie
#คุกกี้เสี่ยงทาย ทั้ง 4 เวอร์ชั่น Koisuru Fortune Cookie ——————————————AKB48 (JAPAN)BNK48 (THAILAND)JKT48 (INDONESIA)SNH48 (CHINA)
โพสต์โดย BeautyQueen เมื่อ วันอังคารที่ 23 มกราคม 2018
เปรียบเทียบวงต้นฉบับกับวงน้องสาว
นอกจากจะก่อตั้งวงน้องสาวแล้ว ยังก่อตั้งวงคู่แข่งอย่างเป็นทางการขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจเช่นกัน คล้าย ๆ กับการสร้าง competition brands ขึ้นมาให้แข่งกันเอง และเป็นทางเลือกให้กับแฟน ๆ ซึ่งโดยปกติการใช้กลยุทธ์นี้จะไม่ค่อยเปิดเผยให้ผู้บริโภครู้ เช่นแว่นท็อปเจริญ และห้างแว่นบิวตี้ฟูล ที่มีเจ้าของเดียวกัน แต่เก็บงำความลับมานานเป็นสิบปี
แต่ 48กรุ๊ป เลือกที่จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเลย ว่าวงคู่แข่งคือ Nogizaka46 และมีวงน้องสาวคือ Keyakizaka46 โดยตัวเลข 46 มาจากแนวคิดที่ว่า ถึงจะมีสมาชิกน้อยกว่า AKB48 แต่ก็จะไม่พ่ายแพ้แน่นอน
แฟนเพลงเกือบ 95% เป็นผู้ชาย
ในสังคมญี่ปุ่นนั้นแนวเพลงป๊อบสไตล์ AKB48 นั้นเคยเป็นที่นิยมของเด็กสาววัยรุ่นและวัยทำงานของญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันฐานแฟนของเพลงแนวนี้ได้เปลี่ยนไป โดย แอนดรูว์ จอยซ์ และ เคนเนธ แม็กซ์เวล จาก เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นอล (The Wall Street Journal) ได้อธิบายเช่นกันว่าเป็น
“แนวเพลงป็อปที่เคลือบด้วยน้ำตาลที่มีข้อคิดในเนื้อเพลงเป็นครั้งคราว”
และได้พูดอีกว่า
“สมาชิกแสดงบทประพันธ์ที่เรียบง่ายซ้ำไปซ้ำมาต่อหน้าผู้ชมที่ 95% เป็นผู้ชาย โดยแนวเพลงนั้นก็เหมือนเพลงป๊อปญี่ปุ่นที่มีจังหวะเร็ว เสียงสูง และท่อนฮุกที่ร้องตามได้“
แม้จะมีแฟนเพลงที่เป็นเด็กสาววัยรุ่น แต่ส่วนใหญ่ติดตามด้วยความที่เห็นเป็นไอดอลจริง ๆ และพยายามที่จะเป็นให้ได้อย่างไอดอลของตัวเองบ้าง โดยติดตามเพราะชื่นชอบและติดตามเพื่อเป็นเป้าหมาย แต่ในกลุ่มของแฟนหลักที่เป็นผู้ชายนั้น ติดตามด้วยความคลั่งไคล้ และพร้อมเสมอที่จะทุ่มเงินซื้อสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้กับไอดอลที่ตนเองชื่นชอบ
โอตะ กับโอชิต่างกันอย่างไร? โอตะจะหมายถึงแฟนเพลง ที่พูดโดยรวม ๆ ว่าเราเป็นโอตะของวง AKB48 หรือเราเป็นโอตะของวง BNK48 ก็คือแฟนเพลงของวงนั้น ๆ แต่โอชิ คือการที่ติดตามหรือชื่นชอบไอดอลเป็นรายบุคคลเป็นพิเศษ เช่น โอชิน้องเฌอปราง โอชิน้องโมบาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี คามิโอชิ ที่หมายถึงคนที่คลั่งไคล้ไอดอลเพียงคนเดียวในวงเท่านั้น ไม่โอชิคนอื่นอีกเลย ถือเป็นโอชิขั้นสุงสุด
แล้วโอตาคุ เกี่ยวอะไรกับวงการเกิร์ลกรุ๊ปไอดอลเหล่านี้ โอตาคุ มาจากคำว่า ตาคุ ที่แปล่วาบ้าน ในความหมายที่ตรงตัวคือ พวกที่เอาแต่อยู่ในบ้าน(หรือในห้องนอน) หมกตัวเล่นเกมและอ่านการ์ตูน วัน ๆ ไม่ค่อยทำอะไร ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (ซึ่งดูเป็นความหมายไปในทางลบมาก ๆ) แต่ในความเป็นจริงนั้น โอตาคุหมายถึง ผู้ที่คลั่งไคล้ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำการเสาะหาข้อมูลในเชิงลึก ที่บ้างครั้งก็ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องลึกขนาดนี้ แล้วมีประโยชน์อะไร แต่โอตาคุจะไม่สนใจ และหมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองชอบเท่านั้น เช่นโอตาคุเกม โอตาคุการ์ตูน โอตาคุรถไฟ โอตาคุโมเดลฟิกเกอร์ โอตาคุหุ่นยนต์ โอตาคุคอมพิวเตอร์ โอตาคุนิยาย หรือโอตาคุไอดอล
ซึ่งโดยมากแล้วโอตาคุ จะสนใจเรื่องที่ใกล้เคียงกัน เช่น เกม การ์ตูน หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ และไอดอล บางคนอาจจะสนใจเกือบทุกเรื่อง แต่จะมีเรื่องที่รู้ลึกรู้จริง และหมกมุ่นอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น และหากเป็นโอตาคุในวัยทำงานแล้ว คนเหล่านี้จะไม่ใช้เงินไปกับเรื่องกินเรื่องเที่ยวหรือเรื่องผู้หญิงเลย จะนำเงินมาทุ่มให้กับสิ่งที่ตนเองคลั่งไคล้เท่านั้น และนี่คือแหล่งทำเงินของธุรกิจไอดอลโดยแท้จริง
AKB48 มีรายได้เท่าไร และมาจากช่องทางไหนบ้าง
AKB48 เป็นหนึ่งในวงที่มีรายได้สูงสุดในประเทศญี่ปุ่น โดยทำรายได้ไปมากกว่า 7,000 ล้านบาทในปี 2012 และนับตั้งแต่วันเปิดตัวในปี 2005 จนถึงเดือนมิถุนายนปี 2017 มียอดขายแผ่นซิงเกิลไปแล้วกว่า 50 ล้านชุด และยอดขายอัลบั้มมากกว่า 6 ล้านชุด
AKB48 ได้ให้กำเนิดโมเดลทำเงินที่สามารถทำซ้ำได้ ไม่ว่าที่ใดในโลก ด้วยการคัดเลือก ออดิชั่น จากเด็กสาวธรรมดาในท้องถิ่น จาก Nobody เมื่อผ่านการทดสอบ การฝึกฝนอย่างหนัก และมีการแข่งขันกันเองในทีม ก็จะกลายเป็น Somebody เป็น ไอดอลในที่สุด ซึ่งไอดอลในที่นี้จะต้องมีความสามารถรอบด้าน และเป็นที่ยอมรับของแฟน ๆ เท่านั้น ไม่ใช่เพียงหน้าตาดี หรือเสียงดีเพียงอย่างเดียว
แต่สมาชิกของวงเป็นเพียงเฟืองตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจเท่านั้น เพราะกำลังหลักคือแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ที่จะต้องดึงดูดให้เหล่าสาว ๆ อยากจะสมัครเข้ามาเป็นไอดอล เมื่อแบรนด์เข้มแข็งแล้ว การจะมีไอดอลรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็ไม่ใช่เรื่องยาก
1. ช่องทางทำเงินจากเหล่าไอดอล
ไอดอลถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของบริษัท ที่จะมีอายุสัญญาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้นบริษัทจึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะหารายได้จากความนิยมของตัวไอดอลให้ได้มากและเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การโหวต/เลือกตั้งเซ็มบัตสึ ประจำซิงเกิล ซึ่งต้องใช้คูปองโค๊ดจากแผ่นซีดีซิงเกิลนั้น ๆ 1 แผ่นจะโหวตได้ 1 ครั้ง เท่ากับ 1 คะแนน นี่คือการเล่นกับหัวใจของกองเชียร์ ถ้าอยากให้ไอดอลของตนเองชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องระดมเงินกันเข้ามาซื้อแผ่นซีดีซิงเกิล เพื่อดันให้ชนะโหวต ส่วนซีดีที่ซื้อไปจำนวนมาก ก็จะนำไปแจกให้กับคนที่ยังไม่ได้ฟังเพลง ซึ่งก็เป็นการช่วยโปรโมท โดยที่บริษัทไม่ต้องเสียค่าโปรโมทเลย
งานจับมือประจำปี แหล่งทำเงินจากโอตาคุทั่วประเทศ – การทำยอดขายแผ่นซีดีซิงเกิลจำนวนนับสิบล้านแผ่น ในช่วงที่กระแสเพลงสตรีมมิ่งเปิดกันกระหึ่มแบบนี้ นับว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ แต่ AKB48 สามารถทำได้ (ยอดขายซีดี ของ BNK48 ในงานจับมือไอดอลก็ไม่น้อยหน้า ของเราทำยอดขายได้ถึง 3หมื่นแผ่นเลยทีเดียว)
รายได้จากการโชว์ตัวตามสื่อต่าง ๆ หรือ การที่เม็มเบอร์หรือไอดอลได้ไปร่วมงานอื่น ๆ เช่นแสดงละคร ซีรีส์ หรือภาพยนต์ ก็จะต้องรับงานในนามของบริษัทเท่านั้น
2. รายได้จากการแสดงคอนเสิร์ต
ทั้งคอนเสิร์ตใหญ่ และการแสดงในเธียร์เตอร์ ก็จะมีบรรดาโอตะ ตีตั๋วเข้าไปให้กำลังใจไม่ขาดสาย
3. รายได้จากสปอนเซอร์
ในแต่ละวงจะมีสปอนเซอร์คอยสนับสนุนอยู่ ซึ่งจะมีทั้งสปอนเซอร์หลักคือสนับสนุนในระยะยาว และสปอนเซอร์เฉพาะกิจที่สนับสนุนตามงานต่าง ๆ เป็นรายครั้ง
4. รายได้จากแอป Showroom
เป็นแอพสตรีมมิ่งไลฟ์แชต ที่สามารถแชตพูดคุยกันสด ๆ กับไอดอลที่ชื่นชอบได้ และยังส่งไอเท็มให้กับไอดอลได้ โดยต้องใช้เงินจริงในการซื้อไอเท็มต่าง ๆ
5. นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายรูปถ่ายของเม็มเบอร์ หรือไอดอล ที่เรียกว่าโฟโต้เซ็ต
ยกตัวอย่างจากวงน้องสาวอย่าง BNK48 แต่ละเมมเบอร์จะมีทั้งหมด 3 เซ็ตคือ เซ็ต A, B และ C และใน 1 เซ็ต ประกอบไปด้วยรูป 5 ใบ
– ใบที่ 1 เป็นใบ Cover ตามเมมเบอร์ที่เลือกซื้อ มีทั้งหมด 3 แบบ แตกต่างกันไปในเซ็ต A, B และ C
– ใบที่ 2 สุ่มจากเมมเบอร์ที่เลือก 1 แบบ (สุ่มจาก 3 แบบ) โดยแบบในใบที่ 2 นั้น จะเป็นแบบที่ไม่ซ้ำกับแบบที่เป็นใบ Cover
– ใบที่ 3 และ 4 จะสุ่มจากเมมเบอร์ทั้งหมด 29 คน (จากคนละ 3 แบบที่ไม่ใช่ใบ Cover)
– ใบที่ 5 สุ่มเหมือนใบที่ 3 และ 4 โดยในบางซอง จะได้เป็นช็อตพิเศษ ที่เมมเบอร์เป็นคนเลือกเอง พร้อมลายเซ็นและข้อความที่เขียนโดยเมมเบอร์แทน (สุ่มเมมเบอร์)
รวมทั้งหมด 29 เมมเบอร์ x ( Cover 3 แบบ + Random 3 แบบ + ช็อตพิเศษ พร้อมข้อความและลายเซ็น 1 แบบ) = 203 แบบ
ขนาดของรูป 3.5×5นิ้ว (ขนาด 3R / L) เท่ากับของทางฝั่งญี่ปุ่น
ราคาเซ็ตละ 250 บาท *(ข้อมูลจาก แฟนเพจ BNK48)
โดยแฟน ๆ สามารถซื้อรูปของไอดอลได้ แต่จะไม่รู้ว่าจะได้รูปอะไร (เหมือนการซื้อสติ๊กเกอร์นักฟุตบอล หรือสติ๊กเกอร์ดราก้อนบอลสำหรับสะสม) ด้วยเหตุนี้ทำให้กว่าที่โอชิ หรือคามิโอชิจะได้เจอรูปของไอดอลที่ตนเองชื่นชอบจนครบคอเล็คชั่น ก็จะต้องทุ่มเงินซื้อจำนวนมาก และก็เกิดกลุ่มคนที่นำรูปถ่ายที่หายาก ออกมาประมูลสำหรับนักสะสมโดยเฉพาะ ซึ่งรูปถ่ายหายากบางรูปจะมีมูลค่าถึงหลักหมื่นบาทเลยทีเดียว ซึ่งการซื้อโฟโต้เซ็ตนั้นยังได้รับสิทธิ์ลุ้นเป็นผู้โชคดี ได้ถ่ายภาพกับไอดอลที่ชื่นชอบได้อีกด้วย
6.นอกจากนี้ยังมีของที่ระลึกจำหน่ายอีกมากมายเช่นโฟโต้บุ๊ค ฯลฯ
ทั้งนี้การที่บริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าที่เป็น Physical product ที่จับต้องได้ ในจำนวนมากขนาดนี้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งอย่างมาก เพราะในปัจจุบัน ทั้งภาพถ่าย และแผ่นซีดี ล้วนเป็นสิ่งที่แทบจะขายไม่ได้แล้วเมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิตอล แต่ด้วยกฎเกณฑ์ที่บริษัทสร้างขึ้น ทั้งห้ามถ่ายรูป ห้ามเซลฟี่กับโอตะ แอคเคาท์โซเชียลมีเดียของไอดอลต้องสร้างใหม่ทั้งหมด โอตะห้ามถ่ายรูปไอดอล รวมถึงการสร้างงานจับมือหรืองานเลือกตั้งเซ็มบัตสึ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดโมเมนตัมที่เหวี่ยงกลับมาเป็นรายได้มหาศาล
โดยกระแสของ BNK48 ในประเทศไทยก็ได้พิสูจน์แล้วว่า โมเดลนี้สามารถก็อปปี้และทำซ้ำในที่ใดก็ได้ทั่วโลก แม้ว่าเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย หรือ Koisuru Fortune Cookie จะเป็นเพลงเก่าที่ AKB48 เปิดตัวมาตั้งแต่เมื่อ 5ปีที่แล้ว แต่วันนี้ก็ยังคงติดหูคนไทยนับตั้งแต่ได้ฟังเพียงครั้งแรก
เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า แบรนด์นั้นสำคัญกว่าตัวบุคคล เพราะไม่ว่า AKB48 จะเปลี่ยนนักร้องเม็มเบอร์หรือไอดอลไปกี่รุ่นหรือแยกออกมาเป็นวงน้องสาวไปกี่วงก็ตาม วง AKB48 ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ แม้จะผ่านกาลเวลามาถึง 12ปี ย่างเข้าปีที่ 13 แล้วก็ตาม และยังคงเติบโตต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง จนนาทีนี้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ยังต้องให้ความสนใจในโมเดลของ AKB48 เพราะด้วยโมเดลนี้เพียงโมเดลเดียวสามารถทำเงินได้มหาศาลเกือบหมื่นล้านบาท และก้าวเป็นธุรกิจบันเทิงระดับโลกที่นานาชาติต่างให้การยอมรับในที่สุด
สรุปโมเดลธุรกิจของ AKB48
เริ่มจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่สนใจโดยไม่ยึดติดกับตัวบุคคล และสร้างกฎกติกาให้มีความยาก เพื่อคัดเลือกสมาชิกที่มีความสามารถที่สุด สร้างระบบให้มีการแข่งขันกันในทีม และโปรดมทให้กับคนที่มีความสามารถและได้รับความนิยมสูงสุดเป็นรางวัลในความพยายาม ซึ่งถ้าใครสามารถสร้างฐานแฟนคลับได้มาก ก็จะมีโอกาสออกสื่อได้มากขึ้น และเนื่องจากเวลาที่จะอยู่กับวง มีจำกัด บรรดาเม็มเบอร์จึงต้องพยายามสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง เพื่อต่อยอดในวงการบันเทิงต่อไปหลังจบการศึกษา(หมดสัญญา) ยิ่งทำให้ต้องรีดความสามารถทุกอย่างที่มีออกมาให้หมด
แฟน ๆ จะสนับสนุนคนที่มีความสามารถ และโดดเด่น พร้อมจะทุ่มเทให้กับไอดอลที่ตนเองชื่นชอบ ซึ่งจะกลายเป็นรายได้ให้กับบริษัทจำนวนมหาศาล
โดยตัวโมเดลสามารถทำซ้ำ (Duplicate) ออกมาเป็นวงน้องสาว เพื่อกระจายไปยังที่ต่าง ๆ ทำให้ตัวธุรกิจสามารถ Scale up ได้ จาก 1 วง เป็น 11 วง (และจะเป็น 12 วงในปีนี้) ภายใต้แบรนด์ 48G (48กรุ๊ป) ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างจากโอเดลการปั้นวงเกิร์ลกรุ๊ปทุกวงที่เคยมีมา โดยบริษัทสามารถมั่นใจได้ว่าโมเดลธุรกิจนี้จะสามารถยืนระยะได้นานมากกว่าการปั้นศิลปินเป็นรายบุคคล
Source:
https://en.wikipedia.org/wiki/AKB48
https://th.wikipedia.org/wiki/เอเคบีโฟร์ตีเอต
https://www.mangozero.com/interesting-vacab-about-48g-girls/