กรมสรรพากร เตรียมนำ Big Data ร่วมกับ AI เก็บภาษีคนขายของออนไลน์

กรมสรรพากร เตรียมนำ Big Data ร่วมกับ AI เก็บภาษีคนขายของออนไลน์ และพาเข้าระบบสรรพากร

หลังการรับฟังความเห็น จัดเก็บภาษี e-business ของกรมสรรพากร ครั้งที่ 2 ยังไม่ผ่าน อธิบดีกรมสรรพากรก็เดินหน้าผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ต่อทันทีโดยการนำเทคโนโลยี Big Data และ AI มาใช้งาน เล็งใช้ทันปี พ.ศ. 2561 และตั้งเป้าใหญ่จัดเก็บภาษี 2 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2562

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร คนล่าสุดที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เผยนโยบายให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร 20,000 คนทั่วประเทศว่าจะนำเทคโนโลยีดิจิตัล อาทิ Block chain, Big data (ระบบวิเคราะห์ข้อมูลดิจิตัล) และ Artificial intelligence หรือ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นรูปธรรม และเห็นผลลัพธ์ภายใน 1 – 2 ปีจากนี้

“…วัตถุประสงค์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ได้หมายความว่าเราอยากเข้ามาขูดรีดภาษีเพิ่ม เพียงแต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกว่าเดิม เพราะปัจจุบันมีทั้งคนเสียภาษีถูกต้อง และไม่ถูกต้องอยู่มาก

ดังนั้นเทคโนโลยีจะช่วยแยกแยะได้ว่าใครตั้งใจโกงหรือไม่โกง เช่น ธุรกิจแจ้งเสียภาษีต่ำ แต่ไปเช็กดูมีค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าเยอะก็ไม่สอดคล้องกัน หรืออย่างธุรกิจโรงแรม ถ้าข้อมูลเชิงเศรษฐกิจบอกอัตราเข้าพักในจังหวัดสูง 60% แต่แจ้งเสียภาษียอดเข้าพัก 10% ก็จะมีมีการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดเพิ่มเติม…”

— นายเอกนิติ กล่าว

กรมสรรพากร ตั้งเป้าเก็บภาษี 2 ล้านล้านบาท

เบื้องต้น กรมสรรพากร คาดว่าจะสามารถพัฒนาระบบ Chatbot และ AI มาใช้ตอบคำถามเรื่องภาษีก่อนภายในปีนี้ ตามมาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data เพื่อการจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าการจัดเก็บยังคงอยู่ที่ 1.86 ล้านล้านบาท แม้ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณจะจัดเก็บได้ ต่ำกว่าเป้า 4.3 หมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท

ส่วนนโยบายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาขยายเวลาลดภาษี VAT จากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 – 2 ปี

ส่วนนโยบายจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย กำไรจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเดินหน้าต่อแม้ผู้ประกอบการ Fintech จะเรียกร้องให้ทบทวน พร้อมกับกำลังผลักดันกฎหมายจัดเก็บภาษี e-commerce ฉบับใหม่ หลังการเปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมาย e-business รอบที่ 2 ไม่ได้รับการเห็นด้วยจากเสียงส่วนใหญ่