อิสรภาพทางการเงิน เริ่มต้นจากการไม่เดินตามคน 99%

Robert Kiyosaki นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าของผลงานหนังสือชุด Rich Dad Poor Dad หรือ ‘พ่อรวยสอนลูก’ มีความเห็นว่า ‘โรงเรียน’ สอนให้คุณหาเงินจากการทำงานให้คนอื่น แต่ไม่สอนให้คุณมีอิสรภาพทางการเงิน เขาจึงไม่แปลกใจที่บางคนเรียนสูง จบมาทำงานเก่ง หน้าที่การงานดี และหาเงินได้มาก แต่กลับล้มเหลวทางการเงิน มีหนี้ท่วมหัว และไม่สามารถก้าวมาอยู่ฝั่งคน 1% ที่มีมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง



คุณ โรเบิร์ต จึงมีคำแนะนำผ่านคลิปวีดีโอช่อง Motiversity เมื่อปี 2019 – สำหรับคนที่ต้องการออกแบบ วิถีชีวิต สู่การเป็นคน 1% ว่าต้องหลีกเลี่ยงการทำอะไร และควรหันมาทำอะไร โดย CEO Channels สรุปมาให้ฟังง่าย ๆ 3 ข้อ

2 ข้อแรก คือ การไม่ทำแบบที่คน 99% เขาทำกัน และ 1 ข้อสุดท้าย คือ การทำแบบคน 1% ที่ครอบครองความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของโลกใบนี้

1. ขวนขวายหาทางออกจากการเป็นลูกจ้างคนอื่น

คุณโรเบิร์ต เล่าว่า เขามีเพื่อนคนหนึ่งมีความฝันอยากเป็น แพทย์ ซึ่งก็มิใช่เพราะความหลงใหลในอาชีพ แต่เพราะเขาเล็งเห็นว่ามันเป็นหนึ่งในอาชีพที่รายได้สูง เพื่อนของเขาจึงเลือกเรียนแพทย์โดยอาศัยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

หลังจากแยกย้ายกันไปทำตามความฝันอยู่หลายปี พวกเขามีโอกาสได้กลับมาพูดคุยกัน และเพื่อนของเขาก็เผยว่า ได้เป็นแพทย์สมใจและประสบความก้าวหน้าในอาชีพจนมีรายได้ปีละ 1 ล้านดอลล่าร์

คุณโรเบิร์ต จึงถามเพื่อนกลับไปว่า แล้วนายรับเสียภาษีกี่เปอร์เซ็นต์จากรายได้

เพื่อนของเขา ตอบว่า…

ฉันเสียภาษี 40% และชำระหนี้กู้ยืมการศึกษาต่างหากอีก 20% นี้ยังไม่นับหนี้สินส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่เขาก่อขึ้นมาหลังจากได้ทำงานที่มีเงินเดือนประจำสูง ๆ

คุณโรเบิร์ต บอกว่า…

ในขณะที่เพื่อนมีรายได้รวมปีละ 1 ล้านดอลล่าร์ แต่สุทธิที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงเหลือ 4 แสนดอลล่าร์เท่านั้น ในขณะที่ตัวเขา ณ ตอนนั้นมีรายได้มากกว่าเพื่อนหลายเท่า และแทบจะไม่ต้องเสียภาษีสักดอลล่าร์เดียว

คุณโรเบิร์ต จึงเล็งเห็นว่าการเป็นลูกจ้างนั้น ต้องทำงานหนักมากจึงจะมีรายได้สูง แต่ในขณะเดียวกัน ลูกจ้าง เป็นกลุ่มคนที่ทั้งเสียภาษี และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไปพร้อมกัน โอกาสยากที่จะก้าวไปยืนในฝั่งคน 1%

2. อย่าเป็นเจ้าของ ที่ต้องตกเป็นลูกจ้างให้ธุรกิจของตัวเอง

รายงานจาก U.S Small Business Administration ปี 2020 เผยว่า สหรัฐ มีกิจขนาดขนาดเล็กประมาณ 31.7 ล้านราย และ 81% เป็นกิจการที่ไม่มีพนักงานประจำ

นั่นหมายความว่าเป็น กิจการที่เจ้าของต้องลงมาทำงานด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ และหยุดทำงานไม่ได้สักวันเดียว

ภาษาอังกฤษเรียกว่า Self-employed หรือบ้านเราอาจเรียกว่า นายตัวเอง แต่สำหรับ โรเบิร์ต นี้คือการย้ายจากการเป็น ลูกจ้างบริษัทคนอื่น มาเป็น ลูกจ้างบริษัทตัวเอง

Self-employed เป็นคนอีกกลุ่มที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงอันดับต้น ๆ และมีหนี้สินเช่นกัน แต่ก็ยังดีที่หนี้สินของพวกเขามีโอกาสเป็นหนี้สินที่ก่อให้เกิดรายได้ คือ การกู้เงินไปพัฒนาหรือขยายกิจการ

โรเบิร์ต แนะนำว่าควรเร่งหาทางพัฒนาไปสู่ข้อ 3…

3. จงเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างแท้จริง

ภาษาอังกฤษเรียกว่า Business Owner หรือ Entrepreneur คือ การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่คุณลงทุนลงแรงวางรากฐานจนเกิดระบบที่สามารถทำงานและทำเงินแทนคุณ

ยกตัวอย่าง เจ้าของกิจการขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่ Tim Ferriss เจ้าของกิจการตัวคนเดียวที่สามารถออกแบบระบบธุรกิจอาหารเสริมให้ทำงานและทำเงินแทนเขาได้เกือบจะ 100%

ทิม เฟอร์ริส ลงทุนลงแรงในช่วงแรก คือ การค้นหาสินค้าที่ตลาดต้องการ โดยเขาเลือกสินค้าประเภทอาหารเสริมสำหรับกลุ่มนักกีฬา

– การผลิต ใช้วิธีจ้างโรงงานผลิตและตีแบรนด์

– การตลาด และการโฆษณา ใช้วิธี Google Search Engine Optimization และ Google Ad

– การขาย ใช้ระบบซอฟต์แวร์อีคอมเมิร์ซเว็บไซต์

– การสต็อกและจัดส่ง ใช้คนกลางที่เรียกว่า Fulfillment agency

– และการบริการลูกค้า จ้างฟรีแลนซ์มาเป็นแอดมิน

ทิม เฟอร์ริส เคลมว่าเขาใช้เวลาในการบริหารธุรกิจเพียงสัปดาห์ละไม่เกิน 4 ชั่วโมง เท่านั้น นี้คือตัวอย่างของ กิจการขนาดเล็กที่มีสถานะเป็น Business owner อย่างแท้จริง

จากนั้น ลำดับต่อไปของ Business owner คือการต่อยอดสู่ Investor หรือ นักลงทุน

สำหรับ ทิม เฟอร์ริส ปัจจุบันโฟกันการลงทุนในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ และบล็อกเชน ในขณะที่ โรเบิร์ต คิโยซากิน เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และโลหะมีค่า เป็นต้น

และทั้งหมดนี้ คือ อยากมีอิสรภาพทางการเงิน ที่เริ่มต้นจากการหลีกเลี่ยงการเดินตามชาวโลก 99% และให้หันมาเริ่มต้นออกแบบวิถีชีวิตแบบคน 1% โดยคำแนะนำของ โรเบิร์ต คิโยซากิ แห่ง พ่อรวยสอนลูก