6 วิธีเรียนรู้เร็ว หัวไว ความจำดี วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล

[Video transcript] หนึ่งในปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ สู่ความสำเร็จในโลกธุรกิจ การงาน การเงิน และการยืนในสังคมอย่างโดดเด่น ต้องอาศัย ‘ความรู้’

แต่วันนี้ แม้การเข้าถึงข้อมูลความรู้ ดูเหมือนจะง่ายขึ้น แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่เคยคิด เพราะปัจจุบัน โลกหมุนเร็วมาก, ข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา โฟกัสของคนเราถูกรบกวนง่ายขึ้น จนบางครั้งก็เริ่มรู้สึกว่าเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองไม่ทันคนอื่นแล้ว

ถ้าคุณรู้สึกแบบนี้ CEO Channels Episode นี้ มีทางออกให้คุณ กับ 6 วิธีเรียนรู้เร็ว หัวไว ความจำดี วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล คุณจะได้เข้าใจการทำงานของสมองของคุณ และรู้วิธีนำมันมาใช้ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่คุณต้องการ

และที่เซอร์ไพร์ซที่สุด คือ 6 วิธีเรียนรู้เร็ว ไม่ใช่ความลับ แต่ขอเรียกว่า ‘เส้นผมบังภูเขา’ บางท่านอาจยังไม่เคยรู้ บางท่านอาจรู้แต่กลับลืมมันไป เพราะถูกรบกวนด้วยข้อมูลใหม่ ๆ ที่มันฟังดูแฟนซี แต่อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

หากคุณพร้อมที่จะไปค้นพบวิธี Hack สมองให้กลายเป็นคนหัวไวและเรียนรู้เร็ว โปรดกด Subscribe ช่อง CEO Channels และกด Like ให้วีดีโอนี้ แล้วไปเริ่มต้นฟังพร้อมกันเลยครับ



ก่อนอื่น คุณรู้จัก Richard Branson ใช่หรือไม่ครับ?

Richard Branson แห่ง Virgin Group ผู้เป็นเจ้าของกิจการมากกว่า 400 บริษัท กระจายไปในหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจสื่อ ธุรกิจออกกำลังกาย สายการบิน ไปจนถึงธุรกิจอวกาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย

เก่งและรวยขนาดนี้ แต่คุณเชื่อหรือไม่ – Richard Branson กลับเลือกที่จดไอเดียและสิ่งที่เขาเรียนรู้ด้วยปากกาในมือตนเองแทนอุปกรณ์ไฮเทค โดยเขาเคยบอกว่า “ฉันไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร หากโลกนี้ไม่มีสมุดโน๊ตและปากกา”

และนี่คือ วิธีที่ 1. จดบันทึกการเรียนรู้ด้วยมือ

การจดบันทึกด้วยสมุดและปากกา จะทำให้คุณเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้เทคโนโลยีอย่าง โน๊ตแพ็ด หรือ โน๊ตบุ๊ค

ในปี 2014 ศาสตราจารย์ ดาเนียล โอเพนเฮเมอร์ (Daniel Oppenheimer) และ ด็อกเตอร์ แพม มูลเลอร์ (Pam Mueller) ทดลองโดยแบ่งนักศึกษา เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้เรียนรู้และจดบันทึกด้วยการพิมพ์ลงในโน๊ตบุ๊ค และ กลุ่มที่ 2 ให้เรียนรู้และจดบันทึกด้วยมือผ่านสมุดจดและปากกา

จากนั้น ให้ทั้ง 2 กลุ่มนำเสนอสิ่งที่ตนเรียนรู้ในคลาสนี้ ผลปรากฏว่า :

กลุ่มที่จดบันทึกผ่านเทคโนโลยี มีปริมาณการจดข้อมูลเยอะกว่า แต่สมองของพวกเขาจดจำเนื้อหาได้น้อยกว่า และแสดงทัศนะจากสิ่งที่เรียนรู้ไม่ค่อยได้

ในขณะที่ กลุ่มที่จดบันทึกด้วยมือ นอกจากจะมีความทรงจำที่ดีกว่าแล้ว ยังเข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งกว่า และสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาถ่ายทอดแสดงทัศนะเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ในเวอร์ชั่นตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์

การใช้เทคโนโลยีจดบันทึก ช่วยให้คุณทำงานได้เร็วโดยพึ่งพาสมองน้อยลง ดังนั้น เมื่อนำมาใช้กับการเรียนรู้ สมองของคุณจึงไม่ค่อยถูกใช้งานในกรณีนี้

ส่วนการจดด้วยมือ สถานการณ์บังคับให้คุณต้องดึงศักยภาพของสมองมาใช้อย่างสูงสุด ได้แก่ ตั้งใจฟัง, จดจำในหัว, ประมวลผล เพื่อออกแบบถ้อยคำที่คัดมาแล้วว่าจะจดอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด

วิธี 2. อ่านออกเสียง

ศาสตราจารย์ โคลิน แม็คลีออด (Colin M. MacLeod) แห่ง มหาวิทยาลัย Waterloo ทำการทดลองในปี 2017 โดย แบ่งนักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ :

กลุ่มที่ 1. เรียนรู้ ผ่านการฟังคนอื่นพูดให้ฟัง

กลุ่มที่ 2. เรียนรู้ ผ่านการฟังเทปบันทึกเสียงตัวเองอ่านให้ตัวเองฟัง

กลุ่มที่ 3. เรียนรู้ ผ่านการตั้งใจอ่านเนื้อหาเงียบ ๆ

และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ 4. เรียนรู้ ผ่านการตั้งใจอ่านออกเสียงดัง ๆ

ผลลัพธ์ คือ กลุ่มที่สุด 4 สามารถจดจำเนื้อหาดีที่สุด และยังจดจำได้นานกว่าอีกด้วย

ไปต่อกันกับข้อ 3. ใช้วิธี Distributed practice

คุณเป็นกันไหมครับ… เมื่อจะต้องไปสอบ หรือไปนำเสนองาน หรือถูกเชิญไปพูดต่อหน้าผู้คนเยอะ ๆ แม้เราอาจมีเวลาเตรียมตัวค้นคว้าและซักซ้อมเนื้อหาเป็นเดือน แต่กลับเลือกเร่งทำทุกอย่างใน 1 – 2 วันสุดท้ายก่อนวันงาน

ผลออกมาเป็นอย่างไรครับ

หลัก ๆ ก็มี 2 ผลลัพธ์ คือ จำเนื้อหาไม่ค่อยได้ กับ จำได้บ้าง แล้วที่เหลือก็ด้นสดเอา และหลังจบงานคุณก็ลืมทุกอย่างที่ถ่ายทอดออกไป

ด็อกเตอร์ ฌอน แก็ง (Sean Kang) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้ายการศึกษาวิจัยกระบวนเรียนรู้ของมนุษย์แห่ง วิทยาลัยดาร์ธมันธ์ (Dartmouth) นำเสนอวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เรียกว่า “Distributed Practice”

กล่าวคือ การที่คุณพยายามเร่งศึกษาเนื้อหาสาระทั้งหมดแบบรวดเดียว ก่อนวันนำไปใช้งานจริงเพียง 1 – 2 วัน นอกจากคุณจะจดจำแก่นสาระได้น้อยแล้ว ยังเป็นความทรงจำที่อยู่ไม่นาน

เช่นเดียวกับการที่คุณเข้าฟังงานสัมมนายาวทั้งวัน แล้วเดินกลับออกมาแบบจดจำอะไรแทบไม่ได้ พอ ๆ กันเลย

ในขณะที่ Distributed Practice เป็นศาสตร์ที่เริ่มเป็นที่สนใจตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1978 นำเสนอว่า สมองของมนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อข้อมูลถูกแยกเป็น Topic และมีโอกาสตั้งใจศึกษาไปทีละ Topic จากนั้นทิ้งไว้ให้ข้อมูลที่ศึกษาตกตะกอน แล้วจึงจัดให้มีโอกาสได้กลับทบทวนสิ่งที่ศึกษา

วิธีนี้มีประสิทธิภาพสูงต่อการเรียนรู้และจดจำเนื้อหาสาระ ด้วยหลักการนี้เอง นักจัดสัมมนาที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงแบ่งการบรรยายเป็นช่วงย่อย บรรยายทีละ Topic สลับกับกิจกรรมเวิร์คช็อปซึ่งต้องมีการเขียน และกิจกรรมแชร์ริ่งซึ่งต้องมีการพูดออกมา นั่นเองครับ



และมาถึงวิธีที่หลายคนอาจร้องอ๋อ วิธีที่ 4. ถ่ายทอดบอกสอน

คุณผู้ฟังหลายท่านน่าจะเคยได้ยินมาก่อนแล้วว่า หนึ่งวิธีพัฒนาตัวเองที่ดีที่สุด คือการถ่ายทอดบอกสอนผู้อื่น ว่าแต่เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

ด็อกเตอร์ จอน เนสโตเจโก (John Nestojko) อาจารย์สอนจิตวิทยาและสมอง แห่ง มหาวิทยาลัย วอชิงตัน เคยทำการทดลองแบ่งนักศึกษาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับโจทย์ให้เรียนรู้เนื้อหาหนึ่ง ๆ เพื่อทำข้อสอบ และ กลุ่มที่ 2 ให้เรียนรู้เพื่อทำแบบทดสอบ และ จะต้องออกไปถ่ายทอดแก่ผู้อื่นด้วย

ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือ

กลุ่มที่ 1 จดจำเพื่อนำไปทำแบบทดสอบได้แค่พอสอบผ่าน แต่ไม่สามารถอธิบายแบบวิเคราะห์เจาะลึกถึงสิ่งที่ตนศึกษามาได้

ในขณะที่ กลุ่มที่ 2 จดจำเพื่อทำแบบทดสอบได้ถูกต้องกว่ากลุ่มที่ 1 และสามารถเรียบเรียงสิ่งที่เรียนรู้มาเพื่อถ่ายทอดอย่างเป็นระเบียบถ้อยคำที่ลึกซึ้ง

อันที่จริง งานวิจัยลักษณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์ทดลองอยู่หลายท่านนะครับ และผลลัพธ์ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายกัน

ดังนั้น คุณอาจเลือกใช้วิธีนำมาถ่ายทอดลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว แฟนเพจ หรือทำเป็นวีดีโอโพสต์ลงยูทูบ เหล่านี้ก็ถือว่าเข้าข่ายการถ่ายทอดบอกสอน เช่นกันครับ

ต่อกันด้วย วิธีที่ 5 ออกกำลังกาย

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการออกกำลังกายดีต่อร่างกายและการทำงานของหัวใจ ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามันดีต่อ สมอง อีกด้วย

มหาวิทยาลัย McMaster เผยว่า การออกกำลังกายจะไปกระตุ้นการหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า BDNF

BDNF เป็น โปรตีนที่เป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง มีฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์ประสาทสมอง ให้เกิดการแตกแขนงกิ่งก้านสาขา มีการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทอย่างมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ และความจำอย่างมาก

นอกจากคุณจะเรียนรู้เร็วขึ้นแล้ว .ความจำก็จะดีขึ้น และสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าก็จะมั่นคงขึ้นอีกด้วย ฉะนั้น หาเวลาไปออกกำลังอย่างสม่ำเสมอนะครับ

และสุดท้าย วิธีที่ 6 การนอนหลับ

ซึ่งข้อนี้ ต่อให้ไม่มีงานวิจัยมารองรับ คุณก็รู้ว่ามันดีต่อสมองมากแค่ไหน เพราะคุณเองก็เคยอดนอน และผลที่ได้คืออะไร สมองจะมึน ๆ เบลอ ๆ คิดอะไรไม่ออก จำอะไรไม่ได้ คอยแต่จะน็อกท่าเดียว

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์บอกว่า นอกจากการหลับยาวปกติแล้ว การงีบหลับสักพักหนึ่งหลังกิจกรรมการเรียนรู้ เกื้อกูลทั้งต่อความทรงจำในเรื่องราวก่อนหน้านี้ และต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ในชั่วโมงถัดไปของคุณ

และนี้คือ 6 วิธีเรียนรู้เร็ว หัวไว ความจำดี วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล หากคุณชอบเรื่องราวแบบนี้ โปรดกด Like คลิปนี้ และกด Subscribe ช่อง CEO Channels เพื่อจะได้พบกันใหม่ในเรื่องราวถัดไปครับ!

ข้อมูลอ้างอิง :

  • entrepreneur.com/article/323450
  • scientificamerican.com/article/a-learning-secret-don-t-take-notes-with-a-laptop/
  • sciencedaily.com/releases/2017/12/171201090940.htm
  • digitalpromise.org/2019/05/08/ask-the-cognitive-scientist-distributed-practice/
  • pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24845756/
  • sciencedaily.com/releases/2017/11/171122103555.htm
  • gawker.com/5741490/want-to-memorize-something-take-a-nap
  • inc.com/jeff-haden/these-10-scientific-ways-to-learn-anything-faster-could-change-everything-you-know-about-dramatically-improving-your-memory.html
  • smartcompany.com.au/entrepreneurs/ritual-used-worlds-leaders-including-oprah-richard-branson/