storytelling

5 เทคนิคการเพิ่มยอดขายด้วย Storytelling

คนส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะถูกขาย นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงมักที่จะต่อต้านการพยายามเสนอข้อมูลสินค้าที่พวกเขาไม่สนใจที่จะซื้อ และไม่สนใจที่จะเรียนรู้ข้อมูลตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ การระดมอัดข้อความหรือรูปภาพแบบฮาร์ดเซล เพื่อหวังปิดการขายตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ แม้จะใช้ได้ผลในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรบกวนผู้ชมมากกว่า

สิ่งที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าคือ การสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า ด้วยการค่อย ๆ เล่าเรื่อง และดึงความสนใจของลูกค้าเอาไว้ สร้างความไว้วางใจ และความเชื่อมั่น ว่าคุณคือตัวจริง และด้วยวิธีเหล่านี้จะนำพายอดขายอย่างยั่งยืนมาให้คุณในที่สุด ซึ่งเทคนิคนี้เราเรียกมันว่า Storytelling ซึ่งจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความจงรักภักดีต่อแบรนด์ได้ในระยะยาว การเล่าเรื่องจะช่วยคุณเปิดประตูเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีที่สุด วันนี้เราจะมารู้จักกับ 5 เทคนิคที่คุณควรนำ Storytelling ไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มยอดขายให้คุณอย่างยั่งยืน

เทคนิคที่ 1 เล่าเรื่องผ่าน Social Media

การเล่าเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นตัวอักษรเสมอไป และไม่จำเป็นต้องเล่าให้จบในการโพสต์ครั้งเดียว แต่อาจเป็นการเล่าเรื่องแบบต่อเนื่องชวนให้ติดตาม อาจเป็นเรื่องของคน หรือไลฟ์สไตล์ ที่แบรนด์ของคุณให้การสนับสนุนก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะใช้ Instagram เพื่อโพสต์ภาพของคนจริง ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณในชีวิตจริง แต่เป้าหมายคือไม่ได้ต้องการขายผลิตภัณฑ์  ไม่ได้จงใจให้มองว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น แต่นำเสนอให้ผู้คนมองเห็นและเข้าใจไปเองว่า สินค้าของคุณช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ หรือส่งเสริมให้มีไลฟ์สไตล์ที่ดูดี แบบในภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอที่คุณนำเสนอ

แน่นอนว่าคุณไม่มีทางรู้ว่าลูกค้าของคุณจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน และจะเข้ากับแบรนด์ของคุณหรือไม่ แต่การที่คุณนำเสนอไลฟ์สไตล์ที่เป็นแบรนด์ของคุณออกไป จะดึงดูดลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์แบบนั้น หรืออย่างน้อยก็อยากที่จะมีไลฟ์สไตล์แบบนั้นเข้ามา ซึ่งคนเหล่านี้จะมีความเชื่อในเรื่องบางอย่างที่เหมือนกัน และความเชื่อนั้นจะสามารถสร้างความภักดีให้กับแบรนด์ได้

ดังนั้นการใช้ภาพหรือคลิปวิดีโอในการเล่าเรื่องบนโซเชียลมีเดีย จะช่วยให้ผู้คนเปิดรับและสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์ของคุณได้

เทคนิคที่ 2 เล่าเรื่องผ่าน Blog ของคุณ

Blog เป็นอีกหนึ่งที่ ที่คุณควรจะใช้ Storytelling อย่างยิ่ง เพราะบล็อกสามารถเล่าเรื่องราวได้ไม่รู้จบ และผู้คนชอบที่จะอ่านหรือรับรู้เรื่องราวของคนอื่น ดังนั้นการเล่าเรื่องในบล็อกจึงไม่จำเป็นต้องเป็นทางการ จะเป็นเรื่องราวประสบการณ์ของลูกค้าที่มีความสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการใช้สินค้าของคุณก็ได้ หรือเป็นเรื่องราวการเดินทางของธุรกิจของคุณก็ได้ หรือคุณอาจจะเขียนบทความที่เป็นประโยชน์ในด้านที่คุณมีความรู้มีทักษะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถผูกโยงไปยังสินค้าของคุณได้

โดยมีเทคนิคง่าย ๆ ที่ทำให้บล็อกของคุณน่าสนใจ และเติบโตอย่างรวดเร็ว คือ

เลือกใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าของคุณ

ในการเริ่มต้นเขียนบล็อก ซึ่งคีย์เวิร์ดหรือคำค้นหานั้น ควรจะเป็นคำที่มีปริมาณการค้นหาพอสมควร และไม่ควรมีคู่แข่งที่มากหรือยากจนเกินไป โดยใช้ เครื่องมือวางแผนคำหลัก ของ Google ช่วยตรวจสอบในเรื่องนี้  การที่คุณเลือกเขียนในเรื่องที่ผู้คนสนใจ หรือกำลังต้องการหาทางแก้ไขปัญหา และคุณนำเสนอได้ตรงใจและมีความน่าเชื่อถือ จะเป็นการเปิดโอกาสไปสู่การขายได้อย่างง่ายดาย

สร้างเนื้อหาแบบยาวเพื่อการค้นหาที่ดียิ่งขึ้น

Google ชอบบทความยาว ๆ นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้พิจารณาคุณภาพของบทความ แต่ไม่ใช่ยาวแบบไร้สาระ แล้ว Google รู้ได้อย่างไรว่ายาวแบบไหนมีสาระ แบบไหนไร้สาระ Google พิจารณาจาก Bounce rate คือถ้าผู้อ่านเข้าชมหน้าเว็บไซต์หรือบล็อกของคุณ แล้วปิดหน้านั้นทิ้งอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 2-3 วินาที ไม่ว่าคุณจะเขียนยาวหรือสั้นแค่ไหน Google จะมองว่าหน้าเว็บไซต์นี้คุณภาพแย่ แต่หากคุณเขียนเนื้อหาได้น่าติดตาม แม้จะมีความยาวแต่อ่านแล้ววางไม่ลง จะยิ่งทำให้เวลาที่คนอ่านอยู่ในเว็บไซต์ของคุณนานยิ่งขึ้น Google ก็จะให้คะแนนในส่วนนี้มากขึ้น ส่งผลให้อันดับในผลการค้นหาของคุณดียิ่งขึ้น

“ยาวไปไม่อ่าน” ไม่มีอยู่จริง เพราะถ้าเนื้อหาไม่ดี สั้น ๆ ก็ไม่อ่านเหมือนกัน แล้วต้องยาวแค่ไหนถึงจะดี? จากผลการวิจัยพบว่า บทความที่ยาวประมาณ 3,000 – 10,000 คำ ได้ผลดีที่สุด การเขียนบทความที่มีเนื้อหาต่ำกว่า 1,000 คำ จะทำให้ควบคุมการกระจายของคีย์เวิร์ดได้ยาก และจะมีจำนวนของคีย์เวิร์ดที่น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับบทความที่ยาวประมาณ 3,000 คำขึ้นไป จะมีเนื้อที่ให้กระจายคีย์เวิร์ดได้มากกว่า โดยไม่ถูกมองว่าเป็นการสแปม

สิ่งที่ทำให้ Google มองว่าเว็บไซต์ของคุณมีคุณภาพก็คือ

การที่มีเว็บอื่น ๆ อ้างอิงถึงเว็บไซต์ของคุณ โดยการทำลิงค์กลับไป ซึ่งในจุดนี้จะค่อนข้างเสี่ยงต่อความเข้าใจผิดอย่างมาก ระหว่างการสแปมลิงค์ กับการเผยแพร่เว็บไซต์ สรุปสั้น ๆ ก็คือ คุณสามารถติดต่อเว็บไซต์อื่น ๆ ให้นำบทความของคุณ(บางส่วน)ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของพวกเขา และทำลิงค์อ้างอิงกลับมาที่ต้นฉบับ (ซึ่งในช่วงแรก ๆ อาจจะมีค่าใช้จ่าย) หรือการติดต่อไปยังบล็อกเกอร์ต่าง ๆ ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับสินค้าของคุณ เพื่อแลกเปลี่ยนการเผยแพร่บทความ หรืออาจจะเป็นคุณเองที่นำบทความนั้น ไปเผยแพร่ตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ เพียงบางส่วน แล้วทำลิงค์กลับมายังเว็บไซต์ แต่จุดนี้ต้องระวังเรื่องการถูกมองว่าเป็นการสแปมด้วย เราไม่ได้ต้องการลิงค์จำนวนมาก แต่เราต้องการลิงค์ที่มีคุณภาพจากเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ

ในส่วนนี้อาจจะต้องใช้เวลา ค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ แน่นอนว่ามันจะเห็นผลช้า แต่ในที่สุดมันจะเป็นผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและน่าพอใจ

เทคนิคที่ 3 เล่าเรื่องในหน้า About Us บนเว็บไซต์ของคุณ

ใครที่ทำเว็บไซต์อยู่ ลองกลับไปดูหน้า เกี่ยวกับเรา หรือ About Us ดูว่ามันน่าเบื่อแค่ไหน และมันก็เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ค่อยมีคนเปิดเข้าไปดู ก็เพราะมันน่าเบื่อ และมันไม่ได้บ่งบอกอะไรเลยเกี่ยวกับตัวคุณหรือธุรกิจคุณเลย (ส่วนใหญ่ในหน้านี้ผู้คนมักจะใส่ รายละเอียดการติดต่อ เบอร์โทร อีเมล หรือแผนที่) ทั้ง ๆ ที่มันควรเป็นพื้นที่ให้คุณได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณเอง และใครจะเล่าเรื่องของคุณไปได้ดีกว่าคุณล่ะ

ก่อนที่คุณจะกลับไปเขียนมันขึ้นมาใหม่ ลองใช้เวลาสัก 3-5 นาที ในการเรียบเรียงเรื่องราวของคุณ แล้วลองเล่าออกมาให้น่าสนใจที่สุด โดยเขียนลงไปในกระดาษ แล้วพักไว้ซัก10-30 นาที จากนั้นค่อยกลับมาอ่านใหม่ ทีนี้ลองเล่าใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น และลองทำให้มันสั้นลง คุณสามารถฝึกเล่าเรื่องแบบนี้ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้แย่างไม่รู้จบ และความสามารถในการเล่าเรื่องของคุณจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่คุณมั่นใจในเรื่องเล่าของคุณแล้ว ค่อย ๆ ปรับวิธีการเล่าจากผ่านตัวหนังสือเรียบ ๆ ธรรมดา โดยการใส่รูปภาพลงไป หรือเล่าเป็นคลิปวิดีโอก็ได้ แล้วใส่สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ลงไปในหน้า About Us รับรองได้เลยว่ามันจะทำให้ลูกค้าที่คลิกเข้ามาดู จดจำเรื่องราวคุณได้อย่างแม่นยำ

ตัวอย่างของหน้า About Us เจ๋ง ๆ  

เทคนิคที่ 4 เล่าเรื่องใน Email Marketing ของคุณ

อีเมล เป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่ง และใช้งบประมาณที่ต่ำมาก ในประเทศไทยอาจจะสับสนระหว่างสแปมอีเมลกับอีเมลมาร์เก็ตติ้ง แต่สำหรับต่างประเทศนั้น อีเมลมาร์เก็ตติ้งคือแหล่งทำเงินมหาศาล เพราะการที่คุณจะได้รายชื่ออีเมลมาด้วยความเต็มใจจากเจ้าของนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนไทย เราจึงมักจะคิดว่า รายชื่ออีเมลจะได้มาจากการซื้อเท่านั้น ซึ่งผิดอย่างมาก การทำการตลาดผ่านอีเมลนั้น เริ่มตั้งแต่การหารายชื่ออีเมลเลยทีเดียว ในที่นี้จะไม่ขอลงรายละเอียดวิธีการได้มาซึ่งรายชื่อ แต่บอกคร่าว ๆ ได้ว่า คุณต้องทำให้ลูกค้าของคุณเต็มใจกรอกรายชื่ออีเมลของเขาลงในแบบฟอร์มของคุณ ซึ่งคุณอาจจะแลกมาด้วยการให้คูปองส่วนลด หรือสิทธิ์ในการเข้าถึงสินค้าพิเศษ หรือได้สิทธิ์ซื้อสินค้าจำนวนจำกัดก่อนใครในราคาพิเศษเป็นต้น

เมื่อได้รายชื่ออีเมลมาแล้ว การเล่าเรื่องผ่านอีเมลจะง่ายขึ้นมาก ในปัจจุบันมีระบบส่งอีเมลแบบอัตโนมัติมากมาย คุณสามารถเขียนอีเมล เกริ่นนำธุรกิจหรือสินค้าของคุณ โดยบอกเล่าประสบการณ์ของผู้ใช้ หรือความสำเร็จ หรืออาจจะเริ่มต้นด้วยปัญหาที่ลูกค้าของคุณมักพบเจอ ในอีเมลฉบับต่อ ๆ ไปก็บอกถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากนั้น ซึ่งอาจจะมีหลายขั้นตอน จนไม่อยากจะทำเอง และในฉบับต่อไปคุณอาจจะเล่าถึงการค้นพบใหม่ที่แก้ปัญหานั้นได้ง่ายดายมาก และในฉบับสุดท้ายจึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์สำหรับการแก้ปัญหานั้น ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งโดยระบบอัตโนมัติซึ่งคุณสามารถตั้งค่าให้ส่งวันละ 1 ฉบับ ตั้งแต่วันแรกที่มีคนกรอกรายละเอียดเข้ามา การเล่าเรื่องผ่านอีเมลนี้ สามารถปิดการขายได้อย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว ยิ่งคุณมีรายชื่ออีเมลที่เป็นฐานลูกค้าของคุณมากเท่าไหร่ โอกาสในการขายก็ยิ่งมากเท่านั้น

เทคนิคที่ 5 เล่าเรื่องในโฆษณาของคุณ

การลงโฆษณาเป็นสิ่งที่การทำธุรกิจจะต้องมีงบประมาณในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งคุณสามารถเล่าเรื่องผ่านการโฆษณาของคุณได้ ผู้คนจะเปิดใจรับ และชื่นชอบ รวมถึงช่วยกระจายสื่อของคุณออกไปมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการโฆษณาในลักษณะนี้ จึงไม่ใช่การที่จะมาบอกสรรพคุณว่าสินค้าคุณดีอย่างไร หรือทำอะไรได้บ้าง ราคาเท่าไหร่ ขนาดเท่าไหร่ เหล่านี้ไม่ต้องพูดในโฆษณา แต่ควรจะเล่าเรื่องว่า สินค้าของคุณแก้ปัญหาให้ผู้คนได้อย่างไร และทำไมจึงควรจะมีสินค้าชิ้นนี้  ซึ่งการเล่าเรื่องผ่านโฆษณานั้นจะต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ และอาจจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย หรือหากต้องการทำเองก็ต้องวางแผนอย่างละเอียดที่สุด

หัดเล่าเรื่องให้น่าสนใจ คือหัวใจของการทำ Storytelling

ไม่มีใครเล่าเรื่องได้เก่งมาตั้งแต่เกิด แต่ทั้งหมดสามารถฝึกฝนได้ ลองฝึกเล่าจากเรื่องใกล้ตัวก่อน เช่น อาจจะหานิทานในวัยเด็ก ที่ใคร ๆ ก็รู้เรื่องราวทั้งหมดอยู่แล้ว แต่คุณลองเอามาเล่าใหม่ให้น่าสนใจ การเปลี่ยนวิธีเล่าใหม่โดยยึดตามโครงเรื่องเดิมนั้นเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก ในการรีเมคภาพยนตร์ สมมติว่าจะเล่าเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง ถ้าเล่าแบบเป็นเส้นตรงคือ หนูน้อยหมวกแดง ไปเยี่ยมคุณยาย ไปเจอหมาป่า หมาป่ากินยายแล้วปลอมเป็นยาย หลอกหนูน้อยหมวกแดง จะกินหนูน้อยหมวกแดง พ่อมาช่วยไว้ ฆ่าหมาป่าตาย จบ

ลองเล่าแบบเอาบทสรุปขึ้นมาตอนแรก แล้วค่อยย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น หรืออาจจะเริ่มจากกลางเรื่องแล้วย้อนไปจุดเริ่มต้น แล้วพาไปสู่จุดจบ ซึ่งทั้งสองวิธีมักจะใช้เล่าในภาพยนตร์บ่อย ๆ ทำให้เนื้อเรื่องเรียบ ๆ และน่าเบื่อ ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครอื่น ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ เช่น ลองเล่าเรื่องหนูน้อยหมวกแดงผ่านปากของหมาป่า หรือเล่าจากมุมมองของยายที่ถูกหมาป่ากิน

หรืออาจจะลองเล่าข่าวสารในชีวิตประจำวันให้น่าสนใจ ในมุมมองใหม่ ๆ ซึ่งมุมมองนี้สำคัญ หากคุณสามารถมองเรื่องราวหนึ่งเรื่องได้ในหลาย ๆ มุม จะทำให้การเล่าเรื่องของคุณสนุกขึ้น ที่สำคัญคือควรฝึกบ่อย ๆ

การเล่าเรื่องมีหลากหลายวิธี หากคุณต้องการเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี ควรศึกษาเรื่องเล่าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น

  • ถ้าคุณจะเล่าเรื่องใน 15 วินาที ฟังสปอตโฆษณาในวิทยุ หรือดูโฆษณาในยูทูปหรืออินสตาแกรม
  • ถ้าคุณจะเล่าเรื่องใน 30-60 วินาที ดูโฆษณาโทรทัศน์
  • ถ้าคุณจะเล่าเรื่องใน 3 นาที ฟังเพลงเยอะ ๆ
  • ถ้าคุณจะเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ อ่านเยอะ ๆ และหัดเขียนมาก ๆ

และนี่คือ 5 เทคนิคที่คุณควรนำ Storytelling ไปใช้ ซึ่งในแต่ละตำแหน่งก็มีวิธีการใช้แตกต่างกัน แต่เมื่อทำทุกอย่างไปพร้อมกันแล้ว จะทำให้คุณสามารถสร้างฐานลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์ และสร้างยอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนแน่นอน


และหากคุณชอบใน Content ที่ทาง CEO Blog ได้นำเสนอ ในเร็ว ๆ นี้ ทาง CEO Blog ของเรานั้น กำลังจะมีโปรเจค CEO Premium Content ซึ่งเป็น Content ด้านการค้าปลีกออนไลน์ แบบพรีเมี่ยม ที่หาอ่านไม่ได้บน Blog ปกติของ CEO Blog โดยจะเปิดรับสมัครสมาชิกพรีเมี่ยมในเร็ว ๆ นี้

หากคุณไม่อยากพลาด Content ระดับ Premium สามารถลงทะเบียนเพื่อรับแจ้งข่าวสารได้ที่นี่ก่อนใครเลยครับ รับรองได้เลยว่ามันเป็น Content ระดับพรีเมี่ยมในราคาที่คุ้มสุด ๆ อย่างแน่นอน >>> ลงทะเบียนรับข่าวสารที่นี่ก่อนใครceo premium content