Richard Brason ถือได้ว่าเป็น Serial Entrepreneur ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ที่ ณ ปัจจุบันมีธุรกิจร่วมกว่า 400 บริษัทในนามของ Virgin Group ที่มีมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว ๆ 1.75 แสนล้านบาท ในวัย 67 ปี ซึ่งส่งผลให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 324 ของโลก และอันดับที่ 7 ของประเทศอังกฤษ ที่เขาสร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง และนี่คือบทเรียนที่คุณสามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาดของเขา
บทเรียนที่ 1 เมื่อธุรกิจแรกแทบไม่ทำเงินเลย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1967 Richard Branson ในวัย 16 ปี ซึ่งตอนนั้นเขาได้พักการเรียนแล้วเริ่มต้นทำธุรกิจเกี่ยวกับนิตยสารสำหรับนักศึกษา ซึ่งเขามีแนวคิดว่านักเรียนควรเป็นปากกระบอกเสียงของคนยุคใหม่ โดยแม้ว่าตัวนิตยสารนั้นจะค่อนข้างมีชื่อเสียง แต่รายได้กลับไม่มากนัก จนทำให้มีปัญหาเรื่องของกระแสเงินสดและส่งผลต่อการตีพิมพ์ฉบับต่อ ๆ ไป
แต่เนื่องจากเขาไม่ได้ยึดติดกับวิธีการมากนัก ในช่วงนั้นเอง เขาเห็นโอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพลง เขาได้ส่งจดหมายซึ่งมีส่วนลดไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ และทำให้เขาเริ่มมีเงินสดเข้ามาหมุนในธุรกิจนิตยสาร จนตอนนี้เต็บโตเป็นธุรกิจหมื่นล้านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จะเห็นได้ว่า Richard Branson มองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจนิตยสาร แต่ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องทำเงินจากนิตยสารในช่วงแรก แต่เขากลับสร้างธุรกิจอื่นเพื่อซับพอร์ทให้ธุรกิจนิตยสาร ที่มีแววรุ่งเติบโตต่อไปได้
บทเรียนที่ 2 ส่อแววเจ๊งก่อนที่สายการบิน Virgin Atlantic จะเปิดให้บริการซะอีก
สายการบิน Virgin Atlantic ได้เปิดตัวเมื่อปี 1984 แต่ก่อนที่จะเปิดตัวนั้น กลับเจอกับปัญหาที่เกือบจะทำให้เจ๊งได้เลย เพราะในระหว่างที่กำลังทำการทดสอบการบินเที่ยวแรกโดยเครื่องโบอิ้ง 747 โดยปราศจากผู้โดยสาร ซึ่งถูกโจมตีด้วยฝูงนกฝูงใหญ่เข้าเครื่องยนต์ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบินเป็นอย่างมาก จนทำให้เครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้อีกครั้ง จนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน แต่โชคร้ายที่สายการบินของเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องของการซ่อมแซมเครื่องบินที่ปราศจากใบอนุญาตการบิน เพราะเครื่องบินดันเสียในช่วงทดสอบจึงยังไม่ได้รับใบอนุญาตการบิน
ดังนั้น Richard Branson จึงต้องรีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยการดึงเงินจากธุรกิจอื่น ๆ เพื่อมาช่วยซ่อมแซมเครื่องบินของเขาเพื่อให้ขึ้นบินทดสอบและท้ายที่สุดเขาก็ได้รับใบอนุญาตการบิน โดยสามารถบินจากเมือง Gatwick ไปยังเมือง Newark ได้สำเร็จ
บทเรียนที่ 3 บริษัทผลิตน้ำอัดลมเจ๊งไม่เป็นท่า
บริษัท Virgin เริ่มต้นที่จะพยายามเข้าสู่อุตสาหกรรมน้ำอัดลมเมื่อปี 1994 โดยใช้ชื่อบริษัทว่า Virgin Cola ซึ่งเปิดขึ้นมาเพื่อที่จะแข่งขันกับบริษัทโค้กและเป๊ปซี่ โดยในช่วงเริ่มเปิดตัวบริษัทนั้น Richard Branson ตั้งความหวังเอาไว้สูงมาก เพราะเขาเองก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้แข่งขันกับแบรนด์น้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ของโลก และมันก็จะมีไม่น้อยหากเขาชนะโค้กได้
แต่แล้วก็ยังไม่ทันได้ออกขายเป็นเรื่องเป็นราว ท้ายที่สุดเขาก็ต้องปิดตัวบริษัทนี้ไปหลังจากเปิดเพียงได้ไม่นาน ซึ่งเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่พยายามจะทำน้ำอัดลมมาแข่งกับโค้กและเป๊ปซี่ และเจ๊งในที่สุด โดยบทเรียนในครั้งนี้สอนให้เขารู้ว่า หากผลิตภัณฑ์ของคุณไม่มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์จากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด มันก็แทบไม่มีใครเห็นตัวตนมันเลย
บทเรียนที่ 4 เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกเกือบทำให้เขาต้องเสียชีวิต
Richard Branson เป็นคนที่บ้าระห่ำและชอบทำอะไรห่าม ๆ อยู่เสมอ ครั้งหนึ่งเขาเคยมีความคิดว่า จะท่องเที่ยวรอบโลกด้วยการล่องลอยไปกับบอลลูนยักษ์ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนแรกที่เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติดด้วยบอลลูนได้สำเร็จ
แต่ในระหว่างความพยายามที่จะข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก กลับพบว่าบอลลูนเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคจนทำให้สูญเสียเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ณ ขณะนั้นเขากำลังล่องลอยอยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งบอลลูนกำลังลอยไปในทิศทางที่กำลังเกิดลมพายุ จากการคำนวณแล้วน่าจะมีโอกาสรอดเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถพาบอลลูนลงจอดจนได้
ประสบการณ์ในครั้งนี้สอนให้เขาได้เรียนรู้ว่า จงอย่ายอมแพ้ อย่าถอดใจ จนกว่าจะถึงที่สุดของที่สุด คุณต้องสู้ต่อไป คุณล้มได้ คุณแพ้ได้ แต่คุณยอมแพ้ไม่ได้ เพราะถ้าคุรยอมแพ้เมื่อไหร่เกมจะจบลงทันที
บทเรียนที่ 5 Virgin Digital ล้มเหลวเพราะไม่มีใครยอมดาวน์โหลดเพลง
Virgin Digital เปิดประตูสู่โลกออนไลน์ในปี 2005 ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์ คล้าย ๆ กับ iTunes จากบริษัท Apple แม้ว่า Virgin Music จะมีคลังเพลงขนาดใหญ่มหาศาล และมีบริการสมัครสมาชิกเพื่อดาวน์โหลดเพลง
แต่สิ่งที่ทำให้สู้ iTunes ไม่ได้ก็คือ Virgin ไม่มี iPod ทำให้เขาแพ้อย่างราบคาบในการต่อกรกับบริษัท Apple รวมไปถึงการต่อกรกับการดาวน์โหลดเพลงเถื่อน และหลังจากที่เปิดบริษัทมาเพียงสองปี ก็ต้องปิดตัวลงไปในปี 2007
การเจ๊งในครั้งนี้สอนให้ Richard Branson ได้เรียนรู้ว่า คุณควรจะเดินตามเส้นทางของตัวเองมากกว่าที่จะเดินตามบริษัทคนอื่น
ความล้มเหลวกับผู้ประกอบการเป็นของคู่กัน โดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่เคยล้มเหลวมามากที่สุด จะกลายมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด
ความล้มเหลวของ Richard Branson สอนให้เราได้รู้ว่า การผิดพลาดเพียงบริษัทเดียว ก็อาจจะพาบริษัทอื่นล้มไปด้วยได้หากไม่มีการแก้ปัญหาที่ดีพอ ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบตัวจริง คุณจะต้องไม่หมดหวัง ไม่ยอมแพ้ และฝ่าฝันอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และจงคิดสิ่งใหม่ ๆ ทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ จงอย่าหยุดพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นทั้งในธุรกิจและในชีวิตของคตัวคุณเอง
“คุณแพ้ได้ คุณล้มเหลวได้ แต่คุณยอมแพ้ไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าหากคุณยอมแพ้ คุณก็ไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัวได้อีกครั้ง”
– Richard Branson –
Founder of Virgin Group
ที่มา: Entrepreneur.com