การตลาดออนไลน์และอีคอมเมิร์ซเป็นกิจกรรมที่รายย่อยปฏิบัติกันมานับสิบ ๆ ปี จนกระทั่งช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐก็ดี และองค์กรเอกชนก็ดีเริ่มตื่นตัวและเคลื่อนไหวในฝั่งออนไลน์กันมากขึ้น โดยจะเริ่มเห็นการค่อย ๆ พัฒนาแผนกการตลาดออนไลน์ภายในองค์กรโดยบางบริษัท, ความต้องการกำลังคนด้านการตลาดออนไลน์ในตลาดแรงงาน, การมีหลักสูตรด้านการตลาดออนไลน์ที่ออกแบบสำหรับองค์กรโดยเฉพาะเปิดสอน เป็นต้น
จากวันที่เอกชนเริ่มสนใจจนกระทั่งวันนี้ (ปี ค.ศ. 2017) บริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ที่ทำธุรกิจด้านค้าปลีกได้ก้าวเข้าสู่การตลาดออนไลน์และอีคอมเมิร์ซเต็มตัวแล้ว อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลกับร้านค้าออนไลน์ อาทิ Central Online และ LookSi (Zalora เก่า), Big C กับ C Discount, CP 7-11 กับ Shop@24 เป็นต้น ฯลฯ อีกมากมาย
กล่าวคือ วันนี้ผู้ประกอบการใดไม่เข้าสู่โลกดิจิตอลไม่ได้แล้ว เพราะทั้งคู่ค้าและลูกค้าไปอยู่บนนั้นกันเป็นอันมาก และสำหรับใครที่เพิ่งเข้ามา หรือกำลังจะเข้ามา ต่อไปนี้คือ 5 Digital Impact เปลี่ยนโลกธุรกิจหลังปี 2018 (ที่เริ่มแล้ววันนี้) ที่ช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
1. การสรรหาคู่ค้าและสินค้า เพื่อการเริ่มต้นธุรกิจใหม่
หลายทศวรรษก่อน การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ไม่ถูกและเร็วเหมือนปัจจุบันที่คุณสามารถเข้า Google และค้นหาแหล่งซัพพลายเออร์ได้อย่างรวดเร็ว คุณสามารถตรวจสเป็ก เช็คราคา ดูความน่าเชื่อถือของผู้ขายต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจ หรือกล่าวโดยสรุป วันนี้ทุกคนที่มีอินเตอร์เน็ตมีศักยภาพในการสามารถเข้าถึงข้อมูลของแหล่งซื้อได้แทบจะเท่าเทียมกัน
กรณีที่คุณต้องการนำสินค้าเข้าจากจีน ก็มีเว็บไซต์ Wholesales Marketplace ระดับโลกอย่าง Alibaba ที่คุณแทบจะเข้าไป ช้อปปิ้งซัพพลายเออร์ ได้เลย — หรืออีกแนวทางการทำธุรกิจที่นิยมอย่างเงียบ ๆ แต่ร้อนแรงได้แก่ ธุรกิจทำแบรนด์อาหารเสริมและเครื่องสำอางของตัวเอง ซึ่งมีโรงงานที่รับผลิตแบบ One-Stop ตั้งแต่ผสมสูตร ขอจดทะเบียน ผลิต และบางทีมีระบบส่งของให้ด้วย! ผู้ประกอบการมีหน้าที่ทำการตลาดและปิดการขายผ่านโลกออนไลน์เป็นหลัก แบบนี้ก็เริ่มีแล้ว
2. การเข้าถึง ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ขาย’ ผ่านการตลาดดิจิตอลและอีคอมเมิร์ซ
ต่อยอดจากข้อแรกทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ค้าปลีกและผู้ซื้อปลีก ต่างฝ่ายต่างก็หากันเจอง่ายขึ้นเพราะอินเตอร์เน็ตมีช่องทางและวิธีเข้าถึง กลุ่มเป้าหมาย (กรณีเป็นผู้ขาย) และ ผลิตภัณฑ์ที่มองหา (กรณีเป็นผู้ซื้อ) หลัก ๆ ได้แก่…
E-Commerce Stand-Alone
เป็นการทำเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่เป็นเว็บของเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง มีการทำระบบตะกร้า (Shopping Cart) ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบชำระเงินออนไลน์ (Payment Gateway) ที่รับชำระผ่านบัตรเครดิตได้ ส่วนวิธีทำการตลาดให้กับเว็บไซต์แนวนี้ ได้แก่ Search Engine Optimization หรือ SEO, Search Engine Marketing หรือ SEM, Social Media Marketing, Digital PR หรือการซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ข่าวต่าง ๆ เป็นต้น ฯลฯ
E-Commerce Marketplace
เป็นเว็บไซต์แพลทฟอร์มกลางที่เปิดให้ผู้อื่นนำสินค้าไปโพสต์ขาย อาทิ Lazada, 11 Street, Kaidee ในต่างประเทศ อาทิ Amazon, Ebay เป็นต้น ข้อดีคือ คุณไม่ต้องสร้างและติดตั้งระบบเองทั้งหมดเหมือนกรณีแรก เพราะเว็บไซต์เหล่านี้มีระบบให้คุณพร้อมแล้ว อีกทั้งทางเว็บไซต์แพลทฟอร์มมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นที่รู้จักและมี Traffic เข้าเว็บไซต์จำนวนมากต่อวัน ทั้งนี้การนำสินค้าไปลงขายยังเว็บไซต์เหล่านี้ ทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ก็ยังต้องทำการตลาดเฉพาะตัวสินค้าแยกออกไปอีกด้วยวิธีเดียวกับ E-Commerce Stand-Alone
Online Advertising
คุณสามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้และหาคุณเจอผ่านการโฆษณาออนไลน์ซึ่งมีหลากหลายวิธี หลัก ๆ ได้แก่ Search Engine Optimization หรือ SEO, Search Engine Marketing หรือ SEM, Social Media Marketing ที่นิยมคือการทำ Facebook Business Page และการซื้อ Facebook Ads
นอกจากนั้นยังมีวิธีการทำ Digital PR เป็นการซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ข่าวต่าง ๆ อันรวมไปถึงการอาศัย Influencer ที่มีสื่อของตนเอง เช่น Blogger, Youtuber ประชาสัมพันธ์ให้ — เหล่านี้เป็นวิธีหลัก ๆ จากอีกหลากหลายวิธีย่อย ๆ และหลากหลายในการทำโฆษณาออนไลน์
3. ลดต้นทุนหน้าร้าน ย้ายงบประมาณไปพัฒนาระบบ และการตลาดดิจิตอล
กรณีค้าปลีกดั้งเดิมที่ต้องการขยายการเข้าถึงไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ต้องทำผ่านวิธีเดียวคือ ขยายสาขา การกระทำดังกล่าวมีต้นทุนมหาศาลในการสร้างหน้าร้าน, ซื้อสต็อกมาลงให้เต็มร้าน และการจ้างพนักงานประจำทุกตำแหน่งในทุกสาขาที่เปิดเพิ่ม รวมแล้วเป็นเงินมหาศาล แต่กรณีออนไลน์กลับเป็นเช่นนั้นไม่
เพราะธุรกิจออนไลน์สามารถมีสำนักงานหลักประจำอยู่ที่เดียว ทำการตลาดและขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตและส่งสินค้าไปให้ผู้รับที่อยู่ทั่วประเทศจากส่วนกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงสามารถนำงบประมาณที่จะไปสร้างหน้าร้านไปลงทุนกับระบบสำคัญ ๆ ในการทำอีคอมเมิร์ซ อาทิ
ทำเว็บไซต์และระบบหลังบ้าน
เปลี่ยนจากการทำหน้าร้านสวย ๆ ไปสู่การทำเว็บไซต์สวย ๆ ใช้ง่าย โหลดเร็ว มีระบบตะกร้าและการชำระเงินที่สะดวกใช้งานง่าย เหล่านี้คือประสบการณ์การซื้อของที่ดีสำหรับลูกค้า
ทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง
คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง คือการผลิตเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น บทความ รูปภาพ หรือวีดีโอต่าง ๆ และใช้สื่อเผยแพร่เนื้อหาออกไปเพื่อก่อเกิดการรับรู้และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเข้ามาหาแบรนด์ เป็นแนวทางที่แบรนด์ควรใช้ประโยชน์จากพื้นที่สื่อที่ตนมีสิทธิ์ในการทำการตลาดประเภทนี้คู่ไปกับการโพสต์ขายสินค้า เพราะมันเป็นหนึ่งในการสร้าง Relationship ระยะยาวกับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า
ซื้อโฆษณาออนไลน์
โฆษณาออนไลน์ดั่งที่กล่าวไปในข้อ 2) ของบทความนี้ — คนจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจว่าการตลาดออนไลน์ไม่ต้องใช้เงิน หรือใช้น้อยซึ่งไม่จริงเสียทีเดียว เพราะหากคุณจะขยายการเข้าถึงให้มากและกว้างไกล คุณจำเป็นต้องซื้อโฆษณาผ่านหลายช่องทาง อาทิ Facebook Ad, Google AdWord และ PR Media เหล่านี้ใช้เงิน และเมื่อรวม ๆ กันแล้วก็เป็นเงินจำนวนหลายแสนบาท ไปจนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจของคุณ แต่โดยรวมแล้วก็ประหยัดกว่าโฆษณาดั้งเดิม อาทิ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์
ทำระบบ Lead Generation และ Email marketing
สำหรับรายย่อยอาจยังไม่คุ้นกับสองสิ่งนี้ แต่บริษัทใหญ่ ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการตลาดออนไลน์ล้วนทำการตลาดด้วยวิธีนี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศนั้นทำกันเป็นล่ำเป็นสัน
กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นบนหลักคิดว่า ‘Traffic มีค่าอย่าปล่อยให้หลุดมือ’ คนที่เข้าเว็บไซต์ของคุณ หากเขาเข้ามาแล้วออกไป โอกาสจะกลับเข้ามาใหม่อีกครั้งจะน้อยลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเข้ามาเพราะเห็นโฆษณา ดังนั้นเพื่อไม่ให้ Traffic นั้นสูญเปล่า ระบบ Lead Generation จึงถูกนำมาใช้ กล่าวคือเป็นเครื่องมือเก็บรายชื่อและวิธีติดต่อของ Visitor และหลังจากนั้นแบรนด์จะสามารถส่งอีเมล์ไปประชาสัมพันธ์และขายสินค้าเมื่อไรก็ได้
จากข้อ 1-3…
เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีอินเตอร์เน็คและการตลาดออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาททางธุรกิจ ซึ่งมีมานานมากแล้วโดยเฉพาะในอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีการนำมาใช้ โดยอนาคต — ผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญการประยุกต์ใช้เครื่องมือออนไลน์ต่าง ๆ จะได้เปรียบกว่า
4. เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลและเทคโนโลยี
Digital impact สร้างงานสร้างโอกาสใหม่ ๆ มากมาย ถ้าให้เล่าตรงนี้ก็คงจดจำและนำมาเล่ากันไม่ไหว แต่หลัก ๆ ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้แก่
Chatbot
เป็นโปรแกรมอัจฉริยะที่สามารถสื่อสารด้วยข้อความง่าย ๆ ใช้ในการสนทนากับคนที่เข้ามาสอบถามสินค้าและบริการผ่านทางกล่องข้อความของผู้ขาย ไม่ว่าจะผ่านทาง Facebook, Line ฯลฯ เป็นต้น นำมาใช้ด้วยหลักการเดียวกับระบบตอบรับอัตโนมัติทางโทรศัพท์ แต่ Chatbot มีความฉลาดกว่า ตอบสนองเร็วกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า และในอนาคตจะยิ่งฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ
Fulfillment center
เป็นคลังสินค้าที่รับฝาก แพ็ก และจัดส่งสินค้าให้คนทำอีคอมเมิร์ซ ในต่างประเทศมีมานานแล้วเช่นกัน แต่เพราะในไทยเกิดจากการเติบโตของการขายของออนไลน์โดยรายย่อยมากพอจนทำให้เกิดบริการนี้ขึ้นมา
Digital marketing specialist
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดแรงงานมีความต้องการคนทำงานประจำในตำแหน่งนักการตลาดออนไลน์ในหลากหลายความสามารถ เช่น SEO, Social Media, Website, Application ฯลฯ โดยพบว่านอกจากตลาดยังขาดคนทำงาน (ที่เป็นงานจริง ๆ) สายนี้แล้ว เงินเดือนของคนทำงานด้านนี้ก็ไม่ใช่น้อย ๆ เลยทีเดียว
On-demand-service application
เทคโนโลยีทำให้เกิด Application การใช้งานต่าง ๆ มากมาย โดยก่อนหน้านี้จะเน้นไปที่ Software-as -a-Service Application แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิด On-demand-service app. หรือ App. เรียกใช้บริการต่าง ๆ ซึ่งในอเมริการมีหลากหลายบริการ เช่น บริการจ่ายตลาด, บริการเรียกช่างตัดผม, บริการซักรีด, บริการส่งไวน์ ฯลฯ สำหรับในไทยเริ่มมีบ้างแล้ว เช่น บริการทำความสะอาด, บริการวัดไซส์และตัดเสื้อ, รวมไปถึงบริการจ่ายตลาดก็มี ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหลาย App. ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ที่ดังมาก ๆ จะเป็นกลุ่ม Grab ได้แก่ Grab Taxi, Grab Bike และ Grab Win เป็นต้น
5. เกิดพฤติกรรม และผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ
ปัจจุบัน สวีเดน ได้รับการกล่าวถึงว่าหนึ่งในประเทศที่มีการคาดการณ์ว่า จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก โดยการใช้จ่าย 89% ภายในประเทศอยู่ในรูปแบบดิจิทัล และ 96% ของจำนวนประชากรมีบัตรเดบิต จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนในประเทศนั้นจะต้องเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ทั้งประชาชนเอง รวมถึงธนาคารจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Cashless Society ที่นี่
พฤติกรรมดังกล่าวกำลังขยายตัวไปทั่วโลก โดยแต่ละประเทศจะปรับพฤติกรรมการทำธุรกิจทางการเงินอย่างแพร่หลายในอัตราช้าเร็วไม่เท่ากัน อย่างในประเทศไทยเองก็มีการใช้ Internet banking อย่างแพร่หลายมากแล้ว ลดการทำธุรกรรมที่ธนาคารหรือแม้แต่ตู้เอทีเอ็มไปพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่าสาขาของธนาคารต่อไปจะมีขนาดเล็กลงและกำลังคนประจำสาขาก็น้อยลง แต่จะไปพัฒนาระบบออนไลน์ของธนาคารมากขึ้น
ยกตัวอย่าง โครงการ Prompt Pay โดยธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วว่าจะเริ่มใช้ระบบ Prompt Pay ในวันที่ 31 ตุลาคม 2016 เป็นระบบรับและส่งเงินผ่านโทรศัพท์มือถือโดยอาศัยเพียง เลขที่บัตรประชาชน หรือ เบอร์โทรศัพท์ เท่านั้น นอกจากนั้นการรับภาษีคืนจากทางสรรพากร ประชาชนที่ใช้งานระบบนี้ก็จะได้รับคืนผ่านช่องทางเดียวกันแทนการรอรับเช็คและนำไปขึ้นที่ธนาคารแบบที่ผ่านมา
บริการทางการเงินสำหรับประชนยังไม่หมดเท่านี้ อีกตัวอย่างคือ Application U Choose ของธนาคารกรุงศรี ได้ทยอยนำเอาธุรกรรมต่าง ๆ ที่กระทำผ่านระบบดั้งเดิมจากสาขาหรือทางโทรศัพท์บรรจุเข้าไปใน Application ที่สามารถทำผ่านมือถือในสัมผัสเดียว รวมไปถึงดีลโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในรูปแบบของจดหมายหรือโปรชัวร์ก็จะถูกนำขึ้น Application ดังกล่าวเช่นกัน โดยภาคธุรกิจการเงินกลุ่มใหม่ที่อิงเทคโนโลยีและโลกออนไลน์เป็นที่รู้จักกันในนามกลุ่ม Fintech
Fintech
เป็นธุรกิจที่สร้างและขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีและโลกออนไลน์เป็นหลัก อาทิ ระบบ Payment Gateway อย่าง Omise หรือบริการขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์อสังหาริมทรัพย์อย่าง Refinn ที่ทำระบบเชื่อมต่อกับข้อมูลการบริการสินเชื่อของธนาคารและดึงดีลที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของผู้สนใจมานำเสนอและทำรายการผ่านระบบโดยไม่ต้องไปติดต่อธนาคารเอง
Block Chain & Digital Currency
เทคโนโลยีทางการเงินอีกตัวที่กำลังถูกพูดถึงคือ Block Chain เป็นเทคโนโลยีการทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ผ่านคนกลาง กล่าวคือ แม้แต่ระบบ Payment Gateway ต่าง ๆ ก็ยังถือว่าเป็นคนกลาง แ และอีกอันคือ Crytocurrency หรือเงินดิจิตอลอย่าง Bitcoin ซึ่งล่าสุด ร้านก๋วยเตี๋ยวลิ้มเหลาโหวง ในไทยก็เริ่มเปิดรับเงิน Bitcoin ดังกล่าวแล้ว!
สรุป
เหล่านี้คือ 5 Digital Impact เปลี่ยนโลกธุรกิจหลังปี 2018 (ที่เริ่มแล้ววันนี้) โดยบางอย่างดำเนินการมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้วแต่กำลังเติบโตอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บางอย่างใหม่มาก แต่ก็มีการเริ่มใช้กันบ้างแล้ว และมีโอกาสถูกใช้อย่างแพร่หลายใน 2-3 ปีข้างหน้า อาทิ Crytocurrency เป็นต้น เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ประกอบการต้องจับตาดูเป็นพิเศษและปรับตัวให้ทันเพื่อสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับบทความที่เกี่ยวข้องกับความรู้ในหมวดการเงินสำหรับผู้ประกอบการและ SME สามารถเข้าติดตามและเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungsri.com/bank/th/krungsri-guru/guru.html