5 Startup สำหรับบล็อกเกอร์ใหม่ สิ่งที่ต้องเตรียมใจก่อนเปิดบล็อก

Plant Startup

บล็อก เป็น Platform ในการประชาสัมพันธ์เนื้อหาที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อแขนงเก่า อาทิ หนังสือพิมพ์, วิทยุ, และโทรทัศน์ แต่คำว่า เริ่มต้นง่ายที่สุด ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า จะสำเร็จง่ายที่สุด ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นความสำเร็จอะไรที่ได้มาง่ายโดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อยโดยบล็อกเองก็ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับความเป็นไปในข้อนี้

ผมมีหลัก 5 ข้อในการเป็นบล็อกเกอร์ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ บล็อกเกอร์ใหม่ ที่จะต้องก้าวผ่านช่วงเริ่มต้นอันยากลำบอกตรงนี้ไป ผมบอกได้เลยว่าไม่มีทางลัดที่จะแจ้งเกิดเป็นบล็อกเกอร์ที่มีคนติดตามหากไม่ลงมือทำ 5 ข้อนี้

1. มี Theme ที่คุณจะบล็อก

คุณจะบล็อกเพื่ออะไรและเพื่อใคร? คุณจำเป็นต้องมี Theme หรือ แนวทางของบล็อก อาทิ Theme ธุรกิจ แล้วก็เลือกมาสัก Niche ว่าจะเป็น ธุรกิจการเงินการลงทุน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง หรือ Theme สุขภาพ ก็เลือกมาสัก Niche ว่าจะเป็น การออกกำลังกายและการบริโภค หรือสุขภาพโรคภัยและชีวจิต ฯลฯ ถ้าคุณจะไม่ทำสาย Expert แต่อยากทำสาย Life style ก็ได้ แต่ก็ต้องมี Theme เช่น การท่องเที่ยว วงการบันเทิง หรือจะบันทึกการเดินทางบนเส้นทางชีวิตของตัวเองก็ได้อีก แต่เล่าให้สนุกและ Inspired

ยกตัวอย่าง Rabbit Trip บล็อกท่องเที่ยวที่พระเอกของ Theme คือมอเตอร์ไซค์ CB500X และสโลแกนของบล็อก บันทึกการเดินทางท่องเที่ยวด้วยมอเตอร์ไซค์ กลายเป็นจุดขายของบล็อกที่สร้างความจดจำเป็นอย่างดี

2. มี Content ที่จะเขียนต่อไปได้อีก 6 เดือน

ถามตัวเองว่าแนวที่จะบล็อกคุณมีความรู้และไอเดียที่จะนำมาเขียน Content อย่างต่อเนื่องไปสัก 6 เดือนจากนี้หรือไม่ เพราะไอเดียดีๆที่แว๊บเข้ามาในหัวแล้ว Inspire ให้อยากเปิดบล็อกมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่พอเปิดมาแล้วเขียนไปสัก 3-4 บทความเริ่มตันไม่รู้จะเขียนอะไรดี ผมเคยเป็นบ่อยและต้องเสียเงินกับค่าจดโดเมนรวมเป็นเงินหลัก 4-5 พันบาทโดยที่ไม่ได้พัฒนาบล็อกต่อ ดังนั้นการจะเปิดบล็อกสักบล็อกต้องคิดเลยว่า Theme คืออะไร และมีไอเดียสำหรับ Content มากพอที่จะอยู่กับมันไปอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือไม่หากจะต้องเขียนมันทุกๆสัปดาห์

ยกตัวอย่าง Healthy 24 Hr เป็นบล็อกในสาขาสุขภาพ และ Niche ลงมาที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเนื้อหาให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ครอบคลุมทั้ง การคัดเลือก-เลือกซื้อ, แสดงประโยชน์และโทษภัย, และบทความเชิง Question& Answer ตอบคำถาม เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังนำวิตามินบางชนิดที่มีประเด็นเยอะแยกไปเขียนเป็นอีบุ๊คได้ทั้งเล่ม เรียกว่ามี Content ให้ใช้งานยาวเป็นปีๆ กันเลยทีเดียว

3. เขียนอย่างเป็นตัวของตัวเอง

ภาษาอังกฤษเรียกว่า Be you own voice… นี่คือจุดแข็งของบล็อกซึ่งต่างจากเว็บข่าว คนเขียนบล็อกเรียกว่า Blogger/ Publisher ส่วนคนเขียนเว็บข่าวเขาเรียก Journalist เป็นการเขียนเชิงรายงาน เป็น Content เพื่อทำให้เว็บมี Content ตามเป้าหมายของเว็บข่าว คือ ปริมาณ ดังนั้นภาษาเขียนจะจืดชืดมากๆ อ่านไม่อร่อย แต่ปัญหาคือ Blogger บางคนก็เขียนเหมือน Journalist ทำให้ภาษาดูแข็งกระด้าง ไม่เป็นธรรมชาติ

คนที่ติดตามอ่านบล็อกเขาอ่านเพราะสไตล์ของบล็อกเกอร์ เนื้อหาที่ได้ความรู้และสนุกจะทำให้คนกลายเป็นแฟนประจำและอยากติดตามเรื่อยไป ข้อนี้อาจจะยากในช่วงเริ่มต้นที่จะใส่ความรู้สึก ความเป็นตัวเอง และความคิดของตัวเองลงไปในบล็อก แต่ขอให้ฝึกและพัฒนาภาษาเขียนให้ Be your own voice เพราะมิเช่นนั้นแล้วคนจะคิดว่าบล็อกนี้เป็นเว็บข่าวจืดๆ ที่หาอ่านได้ทั่วๆไปครับ

4. เขียนอย่างต่อเนื่องในช่วง Startup

บล็อกเปิดง่าย แต่เขียนให้ต่อเนื่องไม่ง่าย! การลงมือเขียนบทความให้จบสักหนึ่งเรื่องว่ายากแล้ว แต่การจะเขียนหลายๆบทความติดต่อกันทุกสัปดาห์ยากกว่า กล่าวคือความคิดดีๆเกิดขึ้นง่าย เมื่อความคิดดีๆเกิดขึ้นมันจะสปาร์คแรงบันดาลใจให้เกิดพลัง แต่การลงมือถ่ายเทความคิดออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างต้องอาศัยการบังคับกายใจตัวเองให้ลงมือกระทำ และคนจำนวนไม่น้อยก็มักจอดนิ่งกันตรงนี้แหละ ไม่ยอมสตาร์ทเครื่องออกวิ่ง 55+

ฉะนั้นคุณถึงต้องมี Theme ของงานเป็นกรอบเกณฑ์และเป้าหมายที่จะเดิน เพื่อรู้ว่าใครคือ Target audience ใครคือคนที่รอ Content ของคุณอยู่ เพื่อผลักดันให้คุณต้องลงมือทำเพื่อบุคคลในเป้าหมาย ส่วนการมีหัวข้อที่คุณจะเขียนต่อไปอีก 6-12 เดือนเปรียบเสมือนสต็อกบทความที่คุณมองเห็นตัวเองไปตลอดทางข้างหน้าว่าคุณจะเขียนเรื่องอะไรบ้างนับจากนี้ไป จดรายชื่อหัวข้อออกมาเป็นข้อๆ ดึงแต่ละข้อมาจด Sub-title เพื่อกำหนด Frame work ของแต่ละบทความ จากนั้นลงมือเขียน

ก่อนลงมือเขียนมันจะเกิดความรู้สึกขี้เกียจอยู่บ้าง แต่พอเขียนไปแล้วมันจะเกิด Momentum บางครั้งก็เลยเถิดถึงขั้นหยุดไม่ได้ เขียนต่อเนื่องกันแทบทุกวันก็มี

5. ขยันโปรโมทยังชุมชนออนไลน์

Blogger คือ นักการตลาด เขียนบทความดีๆแล้ว Publish ออกไปก็ไม่มีใครรู้ถ้าคุณไม่บอกคนอื่นให้รู้ โลกอินเตอร์เน็ตกว้างใหญ่ คุณต้องบุกเข้าถึงแหล่งชุมชน ที่ใดมีผู้คนในเป้าหมาย เอา Content ของคุณไปแสดงให้เขารู้เห็น ทั้ง Facebook ส่วนตัว, Facebook page, และ เว็บบอร์ด

บล็อกเกอร์ใหม่อาจมีความรู้สึกเขินอายที่จะเอาลิงค์บทความที่ตัวเองเขียนไปแชร์ตามที่ต่างๆ ผมเองก็เคยเขินที่จะโปรโมทตัวเอง แต่ที่สุดแล้วหากเราไม่กล้าโปรโมท Content ของตัวเองแล้วเราจะเป็นบล็อกเกอร์ไปเพื่ออะไร!?

ผมพบว่าสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจที่จะเอาลิงค์บทความของตัวเองไปแนะนำมีรากฐานมาจากการเขียนบทความที่มีประโยชน์และมีคุณภาพดี เมื่อคุณลงทุนกับเวลาในการผลิตเนื้อหาคุณภาพคุณจะมีความรู้สึกว่าคุณกำลังทำสิ่งที่มีประโยชน์และผู้คนน่าจะได้รับผลดีมากกว่า เมื่อระลึกรู้ในผลที่คนอื่นจะได้รับแล้วคุณจะมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะอยากเอาบทความของตนเองไปบอกต่อ เหมือนกับเวลาที่คุณไปดูหนังหรือกินอาหารอร่อยก็จะเอาไปบอกต่อคะยั้นคะยอเพื่อนๆ ให้ไปให้ได้นั่นเอง!

[hr]

เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารและบทความสำคัญสำหรับ Blogger และ Internet marketer, สมัครรับข่าวสารฟรีที่นี่ครับ
คุณไม่ชอบ Spam ผมก็ไม่เช่นกัน ที่นี่มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์และยกเลิกสมัครได้ตลอดเวลา

[convertpress id=”1876″ replacetheme=”false”]