ต้นเดือน เมษายน ค.ศ. 2020 มีดราม่าดังในวงการ ไลฟ์โค้ช เมื่อ สื่ออังกฤษ นำเสนอเหตุการณ์ J.K. Rowling นักเขียนนิยายชื่อดังเจ้าของผลงานระดับโลกอย่าง Harry Potter ได้ออกมาตำหนิ ไลฟ์โค้ช บางคน (รูปภาพประกอบบทความไม่เกี่ยวกับข้อความของ J.K) ที่สร้างความวุ่นวายให้สังคมในช่วง วิกฤตไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก
ตีความโดยรวบรัดจากข้อความใน Twitter ของ J.K. Rowling ได้แก่
1). ไลฟ์โค้ช ควรหยุดพฤติกรรม ‘โมติเวท’ (Motivate) ผู้อื่นด้วยการติเตียนว่าการไม่รู้จักพัฒนาตัวเองในช่วงกักตัวว่าเป็น ‘พวกคนไม่เอาถ่าน’ เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าช่วงเวลาที่ใครบางคน กักตัวอยู่เงียบ ๆ ในบ้าน เขากำลังเผชิญปัญหาทางจิตใจอะไรบ้าง
No quote tweeting, but if you're a 'life coach' who's on here implying people are losers if they aren't learning a new skill/building a brand while on lockdown, maybe stop. People have challenges you know nothing about. Sometimes getting through something is more than enough.
— J.K. Rowling (@jk_rowling) April 3, 2020
และ 2). การกล่าวกับผู้อื่นว่า ผู้ใดไม่ลุกขึ้นมาสร้างผลงาน คือ คนไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่การสร้างแรงบันดาล แต่มันคือการ ‘ดูถูก’ และ ‘ภาวะซึมเศร้า’ ของบุคคลที่กำลังเผชิญปัญหา ไม่สามารถถูกรักษาได้ด้วยคำพูดแรง ๆ
Implying that people are lazy or unmotivated if they aren't knocking out masterpieces daily isn't inspiration, it's a form of shaming. If endless distraction cured depression, no rich person or workaholic would ever have killed themselves. Sadness and anxiety aren't weaknesses /1 pic.twitter.com/cYQUQElrXL
— J.K. Rowling (@jk_rowling) April 3, 2020
ดราม่าไลฟ์โค้ชในไทย
อันที่จริง ดราม่าไลฟ์โค้ช เกิดขึ้นหลายแห่ง และเกิดมานานแล้วรวมไปถึงใน ประเทศไทย โดยเฉพาะช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา สังคมเริ่มมีความรู้สึกเป็นลบกับวงการ ไลฟ์โค้ช จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพนี้ต่าง ๆ นา ๆ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์
CEO Channels มีโอกาสติดตามรับฟังความคิดเห็นของสังคมที่มีต่ออาชีพ ไลฟ์โค้ช อย่างต่อเนื่อง และพบชุด ‘คีย์เวิร์ด’ หลัก ๆ ที่สังคมสนใจหรือเรียกร้องจาก ไลฟ์โค้ช มากเป็นอันดับต้น ๆ จึงขอนำมาสรุปเป็น 4 หัวข้อ ที่อาจช่วยให้ปัญหาไลฟโค้ชบรรเทาเบาบางลงได้ในอนาคต
ก่อนอื่น… ไลฟ์โค้ช แปลว่าอะไร?
ไลฟ์โค้ช ภาษาอังกฤษ เขียนว่า Life coach อ้างอิงตามพจนานุกรม Cambridge แปลว่า บุคคล หรือ กิจกรรม ที่ช่วยให้ ลูกค้า (ผู้ถูกโค้ช) สามารถตัดสินใจได้ว่า พวกเขาต้องการอะไร และจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร
4 วิธี แก้ปัญหาดราม่า ‘ไลฟ์โค้ช’
1. อบรมใบเซอร์ฯ ให้เรียบร้อย
ทีมงาน CEO Channels เองก็เคยมีโค้ชคอยชี้แนะแนวทางการทำธุรกิจ รวมไปถึงมีโอกาสรู้จักโค้ชบางคนที่แทบไม่เคยมีดราม่าให้เห็นเลย — สาเหตุเพราะอะไร?
ส่วนใหญ่พวกเขาเป็น Certified coach ที่สำเร็จหลักสูตรที่มีความจำเป็นต่ออาชีพ อาทิ หลักสูตรการโค้ชบุคคล และหลักสูตรจิตวิทยาต่าง ๆ มีหน่วยงานหรือองค์กรกลางเป็นผู้ ‘แต่งตั้ง’ ให้พวกเขาเป็นโค้ช มิใช่การ สถาปนาตัวเอง
นอกจากนั้น โค้ช บางคนยังได้รับการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐบาล อาทิ หน่วยงาน GetupTeacher ที่หลักสูตร การสอน/การโค้ช ได้รับการรับรองโดย สำนักคุรุพัฒนา และ กระทรวงศึกษาธิการ และให้มีสิทธิอบรมข้าราชการครูทั่วประเทศ
กรณีนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘อาจารย์ของอาจารย์’ อย่างแท้จริง เพราะได้รับการยอมรับและมอบหมายภารกิจการพัฒนามนุษย์โดยหน่วยงานของรัฐฯ
2. ควรมี เครื่องมือกลาง ในการโค้ชบุคคล
โค้ชมืออาชีพบางสำนักมีดราม่าน้อยหรือแทบไม่มีเลย ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานบนหลักการของการใช้ ‘เครื่องมือส่วนกลาง’ ในการให้คำแนะนำชี้แนะผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยง Bias หรือ ความเอนเอียง อันเกิดจากทัศนคติส่วนตัวของผู้โค้ชเอง
ยกตัวอย่าง ไลฟ์โค้ชมืออาชีพ อาจใช้เครื่องมือประเภท Personality assessment หรือ เครื่องมือวิเคราะห์อัตลักษณ์บุคคล อาทิ MBTI และ Enneagram ในขณะที่ GetupTeacher ประดิษฐ์เครื่องมือวิเคราะห์ขึ้นใหม่ ชื่อว่า HabitScan ที่ได้รับการรับรองโดย กระทรวงศึกษาธิการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นต้น
โค้ชเหล่านี้มีแนวโนมที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ ทัศนคติ ประสบการณ์ หรือ อารมณ์ส่วนตัว ในการให้คำแนะนำ แต่จะยึด ‘ผลวิเคราะห์’ จากเครื่องมือก่อน จากนั้นจึงให้คำแนะนำบนหลักวิชาการและแนะนำแยกตามความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคล
กรณีโค้ชหรือผู้สอนในสาขาอื่น ๆ เช่น สอนธุรกิจ สอนการขาย สอนการตลาด ก็จะมีเครื่องมือแยกไปตามสาขาวิชานั้น ๆ และนั่นจึงเป็นที่มาของ ดราม่าไลฟ์โค้ช ส่วนหนึ่งที่อาจเกิดจากการให้คำแนะนำจาก ประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งปัญหาที่ตามมา คือ Bias หรือ ความเอนเอียงสูง
เนื่องจากเป็นคำแนะนำที่เกิดจากทัศนคติส่วนตัว ซึ่งใช้ไม่ได้ผลกับทุกคนเสมอไป หรือหนักกว่านั้น คือ ไปอ่านหรือจำคำคมจากไลฟ์โค้ชต่างประเทศมาโค้ชต่อ สุดท้ายคนที่ถูกโค้ชก็ไม่ได้ผลลัพธ์ เพราะตัว ผู้โค้ช เองก็อาจจะยังขาด ความรู้ และ ความเข้าใจ ในชีวิตของตนเองเช่นกัน
3. โค้ชคนบนพื้นฐานของการ ‘รับฟัง’
เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีพื้นฐานชีวิตเดิมที่แตกต่างกัน และในความแตกต่างยังแยกย่อยไปเป็นความแตกต่างของ ‘สถานการณ์ชีวิต’ ณ นาทีนั้น ๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่
ดังนั้น การให้คำแนะนำใครสักคนหนึ่งจะต้องให้คำแนะนำแยกตาม รายอัตลักษณ์บุคคล และ ตามสถานการณ์เฉพาะ ของบุคคล หรือหากจะพูดสั้น ๆ คือ การโค้ช คือ ‘การรับฟัง’
แต่อีกหนึ่งปัญหาที่จุดกระแส ดราม่าไลฟ์โค้ช ที่เข้มข้นในช่วงนี้อาจมาจากการ ‘พูดมากกว่าฟัง’ กล่าว คือ ไม่รับฟังปัญหารายบุคคล แต่กลับใช้ สคริปต์กลาง อาทิ “คุณต้องทำ” “คุณทำได้” “ทำทันที, ทำเดี๋ยวนี้” ฯลฯ มาพูดใส่หน้าคนที่กำลังมีปัญหา ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้บุคคลรู้สึกดีขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงที่จะทำให้บุคคลนั้นเกิด สภาวะซึมเศร้า และ รู้สึกไร้คุณค่า มากยิ่งขึ้นไปอีก
หากท่านใดมีโอกาสได้ศึกษาพุทธประวัติก็จะทราบดีว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ใช้ ‘ชุดประโยค’ เดียวกันในการสอนมนุษย์ทุกคน แต่จะทรงวิเคราะห์และจำแนกคนออกเป็นกลุ่ม ๆ และจำแนกตามสถานการณ์ จากนั้นเลือกใช้ ประโยค ที่เหมาะสมกับ ระดับสติปัญญา และ สภาพจิตใจ ของคนนั้น ๆ ในการแสดงธรรม และสิ่งที่ พระพุทธเจ้า ดูจะให้ความสำคัญที่สุด คือ Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจ และ การพูดจาถนอมหัวใจคน
กล่าวโดยสรุป บางครั้ง ณ ช่วงเวลาที่บุคคลกำลังมีปัญหาและโศกเศร้ากับชีวิต พวกเขาอาจต้องการเพียงคนที่ รับฟัง มากกว่า แนะนำ ก็เป็นได้
4. ควรทำในสิ่งที่กำลังสอนผู้อื่น
นี่อาจประเด็นที่สังคมพูดถึงมากที่สุดในหัวข้อ ดราม่าไลฟ์โค้ช นั่นคือ โค้ชประสบความสำเร็จอะไรมา? โดยเฉพาะกลุ่มสายวิชาชีพ อาทิ โค้ชธุรกิจ การตลาด และโค้ชสอนขาย เป็นต้น
เนื่องจากวันนี้ ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเร็วมาก และมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีโอกาสสืบทราบด้วยตนเองว่า ‘โค้ชสายวิชาชีพ’ บางคน ไม่ได้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่สอน หรือปัจจุบันไม่ได้ทำธุรกิจและอาชีพที่ตนสอนแล้ว แต่กลับนำสิ่งที่ตนไม่ทำ หรือทำไม่สำเร็จเหล่านั้นมาสอนผู้อื่น จนเกิดคำถามจากสังคมว่า การกระทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่? และ มีความเสี่ยงต่อผู้เรียนหรือไม่?
ในข้อ 4 นี้ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาชีพ โค้ช หรือ นักสอน โดยเฉพาะการสอนในกลุ่มวิชาชีพ เช่น ธุรกิจ การขาย และ การตลาด อาจนำไปพิจารณาเพื่อหาทางพัฒนาต่อไป
สรุป
ในโลกนี้ไม่มีใครไม่ถูกนินทาหรือถูกด่า แต่กระแสด่าจากสังคมนั้นยังพอที่จะบริหารจัดการได้อยู่บ้าง หากท่านใดอยากเป็นโค้ชที่ต้องการบริหารจัดการเหตุดราม่าในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 4 วิธีลดปัญหาดราม่า ‘ไลฟ์โค้ช’ ที่ประมวลผลมาจากกระแสเสียงของสังคมนี้อาจช่วยได้ไม่มากก็น้อย