4 คุณสมบัติกิจการระดับโลก มีภูมิต้านทานสูงต่อ ‘วิกฤตใหญ่’ ที่คุณก็สามารถทำตามได้

ตลอดไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2020 —  ไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 เพียง 3 เดือน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง มูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกหายไป 6 ล้านล้านดอลล่าในสัปดาห์เดียว (CNBC) และผลจากการประกาศปิดสถานประกอบการ, การสั่งให้คนกักตัวอยู่บ้าน, และการไม่มีไลฟ์สไตล์เหมือนช่วงเวลาปกติของผู้บริโภคทั่วประเทศ ทำให้รายได้ของเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหายไปมากกว่า 50%

แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงเวลาเดียวกัน กลับมีธุรกิจบางกลุ่มสามารถทำเงินได้ตามปกติ ไปจนถึงมีเศรษฐีใหม่เกิดใหม่ภายใต้สภาวะวิกฤตแบบนี้ อาทิ นักธุรกิจจากจีนนามว่า อิริค หยวน เจ้าของแอปพลิเคชั่น วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ยี่ห้อ Zoom มี สินทรัพย์สุทธิ พุ่งพรวดขึ้นมาอีก 2 พันล้านดอลล่าร์ ในช่วงไวรัสระบาด และส่งผลให้เขากลายเป็น มหาเศรษฐีรายล่าสุดของ Bloomberg Billionaire Index มีสุทธิประมาณ 6 พันล้านดอลล่าร์+/- ในราว ๆ กลางถึงปลายเดือน มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม : ประวัติ ‘Eric Yuan’ เจ้าของแอปฯ Zoom 

โจทย์แรก : วิกฤตทำให้คนหยุดใช้เงินจริง ๆ หรือไม่?

ลำดับแรก เราต้องแยกคนที่ไม่มีเงินจริง ๆ ออกจากคนที่การเงินยังดีอยู่ สำหรับคนที่ไม่มีเงินจริง ๆ ก็ต้องหยุดใช้เงินเป็นธรรมดา แต่สำหรับคนที่มีเงินทุนสำรอง และมีสภาพคล่องในระดับหนึ่งย่อมสามารถใช้เงินได้ตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนจุดหมายปลายทางของเงิน หรืออีกนัย คือ ‘เงินไม่ได้หาย แต่แค่ย้ายกระเป๋า

ยกตัวอย่าง:

ธุรกิจร้านอาหารคนแทบไม่เข้าร้าน ยอดขายจากวันละหมื่นเหลือวันละพัน แต่ธุรกิจ ฟู้ดดิลิเวอร์รี่ กลับเติบโต 3 เท่า รวมไปถึงเงินที่หมุนเวียนในเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ อาทิ ลาซาด้า และ แอมาซอนดอทคอม ก็เติบโต

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกิจการที่คนส่วนใหญ่ทายถูกเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับอานิสงค์ในช่วงปิดเมืองกักตัว หนึ่งในนั้น ได้แก่ Netflix ผู้ให้บริการสื่อออนไลน์สตรีมมิ่ง ที่ช่วงหนึ่งราคาหุ้นพุ่งขึ้น 3% สวนทางบริษัทอื่น ๆ ที่มูลค่าลดลง และอีกบริษัทที่สำนักวิเคราะห์หุ้นในต่างประเทศเสนอให้จับตามอง คือ Pelonton ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ ‘โฮมฟิตเนส’ ที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้น 12% ในช่วงไวรัสระบาด (ที่มา Yahoo Finance)

จุดเด่นของ Pelonton คืออะไร?

กล่าวคือ นอกจากจะขายอุปกรณ์ฟิตเนสแล้ว — Pelonton ยังมีคลาสฟิตเนสแบบออนไลน์สตรีมมิ่ง เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกายเป็นหมู่ขณะผ่านออนไลน์ ทำให้ลูกค้ายังมีสังคมได้ตามปกติ เพียงเปลี่ยนจากสังคมแบบ Physical commute ไปเป็น Digital commute (Commute แปลว่าการชุมนุม พบปะ สังสรรค์ของผู้คน)

กล่าวโดยสรุป โมเดลธุรกิจ, สินค้า, และบริการที่อยู่บนโลกออนไลน์ในสัดส่วน 100% หรือใกล้เคียง มีแนวโน้มได้รับกระทบจากการ ‘ปิดพื่นที่’ น้อยกว่าธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็นออฟไลน์



โจทย์ต่อไป : ธุรกิจสมัยใหม่อาจไม่ได้เริ่มด้วยคำว่า ‘ขายอะไรดี’

สมัยก่อน โลกยังไม่มีอินเตอร์เน็ต การจะหาสินค้ามาขายไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อค้าต้องขยันเสาะหา ต้องรู้จักคนเยอะ และต้องมีคอนเนคชั่นดี ฯลฯ

แต่วันนี้ เพียงคุณเปิดสมาร์ทโฟน บราวซ์ไปที่เว็บไซต์ลาซาด้า และใช้ฟังชั่น ‘Filter’ เพื่อกรองสินค้ากลุ่ม Best seller ก็สามารถสืบรายการสินค้าขายดีได้ง่าย ๆ จากนั้นนำชื่อสินค้าไปพิมพ์ในกูเกิ้ลเพื่อค้นหาผู้ผลิต เจรจาราคาส่ง และสั่งสินค้าไปขายได้อย่างรวดเร็ว

4 คุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจในอนาคตมีภูมิต้านทานต่อ ‘วิกฤตใหญ่’

ฉะนั้นคำว่า ‘ขายอะไรดี’ แม้จะมีความสำคัญมาก แต่อาจจะไม่ใช่โจทย์อันดับหนึ่งในการเริ่มต้นธุรกิจเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะวันนี้ คุณมีโจทย์ใหม่ที่สำคัญกว่า นั้นคือคำว่า Scalable, Leverage, Remote และ Cloud base

ไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ ที่คุณอยากทำมี 4 คุณสมบัตินี้หรือไม่? เพราะหากไม่มีเลยสักข้อเดียว ธุรกิจของคุณจะมีความเปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงสูงมาก และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตใหญ่ ๆ (ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคระบาด) คุณเสี่ยงที่จะล้มทันที

รายละเอียดแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง : Scalable, Leverage, Remote และ Cloud base

1. Scalable

Scalable คือ ความสามารถในการขยายกิจการ แต่ไม่ใช่ขยายแบบเดิม ๆ ที่คุณอาจเคยรู้จัก! การขยายกิจการแบบดั้งเดิม ยกตัวอย่าง ‘กิจการร้านอาหาร’ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ Front house พื้นที่รับประทานอาหาร และ Back house พื้นที่ประกอบอาหาร

ร้านอาหารหนึ่ง ๆ จะมี ค่าใช้จ่ายคงที่ที่ค่อนข้างสูง ได้แก่ ค่าเช่าพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ และค่าจ้างพนักงานจำนวนมาก เพราะร้านอาหารโดยมากเปิดเกิน 8 ชั่วโมง จึงต้องมีพนักงาน 2 กะทุกตำแหน่ง

หนึ่งร้านอาหารสามารถให้บริการจำกัดในพื้นที่เปิดบริการ หากเปิดร้าน ณ พื้นที่สุขุมวิท คนจาก รังสิต หรือ ฝั่งธนฯ อาจไม่สะดวกมารับประทานทุกวัน — เจ้าของจึงต้องเป็นฝ่ายไปเปิดสาขาในพื้นที่อื่นเพื่อขยายกิจการ และทุก ๆ สาขาที่เปิดเพิ่ม จะมีค่าใช้จ่ายคงที่ตามมาเสมอ

ส่งผลให้ ยอดขายเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น แต่อัตราเปอร์เซ็นต์กำไรอาจไม่เพิ่มตาม และเมื่อใดก็ตามที่สาขาหนึ่ง ๆ เกิดขายไม่ดี กิจการโดยรวมอาจเสมอตัวหรือขาดทุนทันทีในเดือนนั้น ๆ นี่คือการขยายกิจการแบบดั้งเดิม

แล้วอะไรคือการขยายกิจการแบบใหม่?

ขอยกตัวอย่างธุรกิจร้านอาหารเพื่อจะได้ทำความเข้าใจต่อเนื่องกัน — วันนี้หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Cloud kitchen (คลาวด์คิชเชน)

ปี 2019 คลาวด์คิชเชน และ ฟู้ดดิลิเวอร์รี่ โต 35,000 ล้านบาท ในประเทศไทย และโต 35,000 ล้านดอลล่าร์ในอเมริกา โมเดลนี้กำลังดิสรัปท์ธุรกิจร้านอาหารทั่วโลกในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า

คลาวด์คิชเชน ตัดส่วนที่เป็น Front house หรือ พื้นที่รับประทานอาหารออกไปทั้งหมด และเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นครัว นั่นหมายความว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายประจำ อาทิ ค่าเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ค่าพนักงานฟรอนต์เฮาส์ต่าง ๆ ไม่มีแล้ว

ส่วนพื้นที่ครัวมีขนาดเล็ก เน้นแค่พอทำงาน ไม่ต้องการภาพลักษณ์ ผู้ประกอบการจึงสามารถเช่าพื้นที่เล็ก ๆ และราคาถูกกว่าเพื่อทำครัว

ส่วนการจัดส่งก็ไม่ต้องลงทุนซื้อพาหนะหรือจ้างพนักงานประจำ เพราะขายผ่านแอปพลิเคชัน ฟู้ดดิลิเวอร์รี่ ซึ่งมีฟรีแลนซ์ส่งอาหารในระบบตลอดเวลา และแอปฯ เหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ในการนำเสนอสินค้าและหาลูกค้าเข้ามาในแอปฯ อีกด้วย

ที่อังกฤษมีแอปฯ ชื่อ Deliveroo ซึ่งมียูทูเบอร์ชื่อ Joshua Pieters (โจชัวว์ พีเทอร์ส) ทดลองเปิดร้านอาหารออนไลน์ในแอปฯ ใช้คอนโดตัวเองเป็นครัว และใช้อาหารแช่แข็งจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาอุ่นร้อน ตกแต่งแพกเกจให้สวยงามงาม อัพโหลดรูปอาหารเข้าไปในแอปฯ ก็ปรากฏว่าขายได้

อ่านเพิ่มเติม : กรณีศึกษา วัยรุ่นอังกฤษสถาปนาตนเป็นเจ้าของร้านอาหาร โดยไม่มีร้านอาหารจริง

กล่าวโดยสรุป : โมเดลธุรกิจร้านอาหารแบบดั้งเดิม ใช้เงินลงทุนสูง ค่าใช้จ่ายประจำสูง อัตราเปอร์เซนต์กำไรไม่ได้เพิ่มตามจำนวนสาขาที่เปิดเพิ่ม แต่โมเดล คลาวด์คิชเชน ใช้เงินลงทุนตำ ค่าใช้จ่ายประจำก็ต่ำ เพราะการ Scale ธุรกิจเพียงเช่าพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อเปิดเป็นครัวขนาดเล็ก และเป็นเพียงจุดแวะรับอาหารเท่านั้น

และนี่คือโจทย์ Scalable ที่คุณต้องถามตัวเองว่า ไอเดียธุรกิจใหม่ของคุณสามารถ Scale แบบไร้แรงต้านแบบนี้ได้หรือไม่

2. Leverage

Leverage แปลตรงตัว คือ ‘แม่แรง’ แปลเชิงการใช้ชีวิต คือ ‘ทำน้อยได้มาก’ — ธุรกิจในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมมีระดับความ Leverage ต่ำ กล่าวคือ การเพิ่มกำลังการผลิตก็ต้องเพิ่มคน โรงงานมีขนาดใหญ่โตเพราะต้องใช้คนจำนวนมหาศาลเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งก็จะไปกระทบกับโจทย์ Scalable ในข้อแรก คือ ยิ่งโตยิ่งหนัก ยิ่งเหนื่อย ต้นทุนคงที่ยิ่งสูง และถ้าเกิดวิกฤตใด ๆ ขึ้นในประเทศหรือในโลกแม้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ธุรกิจอาจล้มครืนทันที

ยุคต่อมาโรงงานอาจจะหันมาใช้เครื่องจักรผลิตสินค้า กรณีนี้คือการ Leverage หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ แต่ยังไม่ใช่ที่สุด โดยขอยกตัวอย่างการ Leverage ขั้นสูงสุด โดยไม่อิงกับประเภทอุตสาหกรรมเพื่อความเข้าใจง่าย ได้แก่ YouTube

YouTube โดยผิวเผิน คือ กิจการสื่อ แต่เป็นกิจการที่สื่อแปลกประหลาดเพราะไม่มีการผลิตสื่อเอง ไม่ต้องจ้างดารา ไม่ต้องจ้างนักร้อง และไม่ต้องจ้างทีมงานโปรดักชั่น มีผู้ใช้งาน YouTube ทั่วโลก เป็น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ผลิตสื่อป้อนแพลทฟอร์มให้ฟรี ๆ (ถ้าช่องยังไม่ได้เปิดสร้างรายได้)

ทุก ๆ วัน คนเหล่านั้น, รวมทั้ง CEO Channels, จะตื่นขึ้นมาผลิตและอัพโหลดวีดีโอให้ยูทูบจำนวนรวม 12,000 ชั่วโมงต่อวัน — วีดีโอความยาว 12,000 ชั่วโมง เท่ากับ 1 ปี 3 เดือน ต่อให้คุณเป็นเจ้าของเงินทั้งโลกนี้ก็ไม่สามารถจ้างทีมงานโปรโดชั่นมาผลิตวีดีโอความยาว 1 ปี 3 เดือนให้สำเร็จได้ใน 1 วัน

แต่ YouTube ทำได้ และนี่คือคำว่า Leverage — แต่อย่างที่บอกไปว่าโมเดลอย่าง YouTube, Facbook, Instagram, หรือ Pantip เป็นการ Leverage ขั้นสุด คือ ให้คนจากทั่วประเทศหรือทั่วโลกมาทำงานโดยไม่ต้องจ้างประจำ

ตัวอย่างการ Leverage ขั้นกลาง

ได้แก่ เว็บไซต์ CEO Channels สร้างรายได้จากค่าโฆษณา หากต้องการให้คนเข้าเว็บไซต์เยอะ ๆ ก็เขียนบทความให้เยอะขึ้น แต่คน ๆ เดียวมีข้อจำกัดในการเขียนบทความ และการจ้างพนักงานประจำเยอะ ๆ ก็ไม่ใช่นโยบายขององค์กร ดังนั้นจึง Leverage งานทำงานโดยการจ้าง ‘นักเขียนอิสระ

อย่างไรก็ดี การจ้างคนทำงานอิสระด้วยวิธีเดิม อาทิ โพสต์หานักเขียนตามกลุ่มต่าง ๆ หรือการทักไปหาฟรีแลนซ์ในเว็บ FastWork ก็ยังไม่ Leverage มากพอ เพราะยังเป็นการสื่อสารระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ โดยตรงซึ่งจะมีช่องว่างของกระบวนการสืาอสารค่อนข้างมากกว่าจะเริ่มเงินได้จริง CEO Channels จึงเลือกใช้แพลทฟอร์ม Crowd sourcing (คราวด์ซอร์สซิ่ง)

คราวด์ซอร์สซิ่ง คืออะไร?

ขอยกตัวอย่างตลาดงานฟรีแลนซ์เพื่อความต่อเนื่อง — กรณีเว็บไซต์ FastWork.co และ UpWork.com เป็นแพลทฟอร์มรวมฟรีแลนซ์ในรูปแบบ มาร์เก็ตเพลส ให้คุณเข้าไปช้อปปิ้งฟรีแลนซ์ได้ตามอัธยาศัย ทำงาน ส่งงาน และชำระเงินผ่านระบบที่มีความปลอดภัยและมาตราการป้องกันการโกงระหว่างกัน การทำงานเป็น 50/50 ระหว่าง แมนนัล และ ออโตเมชัน

ส่วนตลาดฟรีแลนซ์ นักเขียน/นักแปล แบบ คราวด์ซอร์สซิ่ง อาทิ iWriter.com  และ Gengo.com เป็นแพลทฟอร์มที่ ‘ฟรีแลนซ์’ มาลงทะเบียนและใส่ข้อมูลให้ครบถ้วนลงในระบบ จากนั้นเมื่อ ‘ลูกค้า’ มาเลือกบริการที่ต้องการ และคีย์รายละเอียดงานในระบบ ระบบจะนำคำสั่งไปประมวลผลและจัดสรรงานไปยัง ฟรีแลนซ์ ที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ

กระบวนการทำงานทั้งหมดจะอัพเดทแบบเรียลไทม์จนแล้วเสร็จ และส่งงานให้ผู้ใช้บริการตรวจสอบ หากงานเรียบร้อย กดปุ่ม Approve งาน เงินจะตัดจากเครดิตที่ผู้ใช้บริการใส่ไว้ในระบบ ทั้งหมดนี้ไม่ต้องมีการทักไปคุย และไม่ต้องรอใครมาตอบ เพราะหากฟรีแลนซ์ที่เหมาะสมคนแรกไม่กดรับงาน คนอื่นที่เข้ามาเห็นก็สามารถกดรับงานไปทำได้เช่นกัน

เปรียบเทียบประสิทธิภาพ

เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างระบบ ฟรีแลนซ์มาร์เก็ตเพลส และ คราวด์ซอร์สซิ่ง พบว่า มาร์เก็ตเพลส ใช้เวลาระหว่าง 3 ชั่วโมง – 1 วัน จากสนทนาจบสู่การเริ่มชิ้นงาน ในขณะที่ คราวซอร์สซิ่ง ใช้เวลา 5 นาที – 1 ชั่วโมงในการเริ่มชิ้นงาน

กระบวนการนี้ ช่วยให้คุณสามารถ Leverage ไลฟ์สไตล์และธุรกิจดังนี้:

ต้นทุนต่ำ : ไม่มีค่าใช้จ่ายประจำ อาทิ เงินเดือน สำนักงาน และสวัสดิการพนักงาน

ออกแรงน้อย : มีความเป็นระบบอัตโนมัติสูง ใช้ซอฟต์แวร์ และคอมพิวเตอร์อัลกอริธึ่มควบคุมคนทำงานเกือบทั้งหมด คลิกเมาส์ไม่กี่ครั้งก็มีคนมาทำงานให้ทัน คุณมีเวลาออกไปพัฒนาธุรกิจในด้านอื่น ๆ และใครไม่เอาการเอางานก็จะค่อย ๆ หลุดออกไปจากระบบ

ไม่ยึดติดกับสถานที่และเวลา : ต่างฝ่ายต่างทำงานจากที่ไหนก็ได้ และสามารถติดตามสถานะการทำงานจากมือถือได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องเฝ้าคน ไม่ต้องคุมงานด้วยตนเอง

และนี่คือโจทย์ Leverage ที่คุณต้องถามตัวเองว่า ไอเดียธุรกิจใหม่ของคุณสามารถ Leverage กระบวนการทำงานแบบนี้ได้หรือไม่



3. Remote

ประเทศไทยเริ่มต้นปี 2020 กับวิกฤตไวรัสโคโรน่าระบาด ส่งผลให้ต้องปิดบ้าน ปิดเมือง กักตัว และทำงานที่บ้านในหลายพื้นที่ จึงเกิดมาตรการ Work ‘FROM’ home หรือ ทำงานจากที่บ้าน

แต่ก็มีเสียงบ่นจากเจ้าของกิจการ และตัวคนทำงานบางคน ที่รู้สึกไม่สะดวกในการทำงานแบบ Work from home โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ โมเดลธุรกิจ และกระบวนการทำงานไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานจากที่บ้านมาตั้งแต่แรก

แต่สำหรับบางบริษัทโดยเฉพาะในต่างประเทศนั้น บรรดาเจ้าของได้วางแนวคิดการทำงานจากที่บ้านตั้งแต่ก่อนเริ่มธุรกิจ ส่งผลให้กิจการเหล่านั้นมีความยืดหยุ่นเรื่องสถานที่ทำงานสูง และบางกิจการก็ถึงขึ้น ‘ไม่มีสำนักงาน’ และรูปแบบการทำงานทั้งบริษัทเป็นแบบ Remote หรือ Work ‘AT’ home แบบถาวร

ตัวอย่าง 2 บริษัท Work at home ทำงานที่บ้านแบบถาวร

บริษัท Automattic ก่อตั้งโดย Matt Mullenweg

คนทั่วไปอาจไม่คุ้นหูกับชื่อบริษัท แต่ถ้าบอกว่าเขา คือ ผู้ให้กำเนิดโปรแกรมทำเว็บไซต์ WordPress บางคนจะเริ่มร้องอ๋อ

Automattic เป็นธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ มีมูลค่ากิจการกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์ พนักงานประจำ 1,172 คน ใน 75 ประเทศทั่วโลก และเกือบทั้งหมดทำงานที่บ้าน และเมื่อเดือน มิถุนายน 2017 ผู้ก่อตั้งได้ประกาศปิดสำนักงานในสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เพราะแทบไม่ได้ใช้งานเลยตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2003

ด้วยความที่ Automattic เป็นธุรกิจซอฟต์แวร์แทบจะ 100% งานส่วนใหญ่จึงทำจากที่ไหนก็ได้ และให้ไปดูผลลัพธ์ของงานที่หน้าเว็บไซต์ ยิ่งไปกว่านั้น ตัวซอฟต์แวร์หลักของบริษัท คือ WordPress ยังถูกออกแบบให้เป็น ซอฟต์แวร์แบบ Open source (โอเพนซอร์ส)

ทำให้ WordPress สามารถแก้ไข, ดัดแปลง, และเผยแพร่ซอร์สโค้ดได้อย่างอิสระ ให้สิทธิเสรีแก่ผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ หรือเพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกันในลักษณะ ชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์

ข้อมูลที่น่าเหลือเชื่อของ WordPress อ้างอิงจากเว็บไซต์ Openhub เผยว่า หากคุณพัฒนาซอฟต์แวร์นี้ด้วยวิธีดั้งเดิม คือ จ้างโปรแกรมเมอร์ประจำมาเขียนโค้ด จะต้องใช้เวลา 382 ปี และงบประมาณ 21 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 630 ล้านบาท เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ WordPress ที่สมบูรณ์แบบในปัจจุบัน

แต่เพราะ WordPress อาศัยการทำงานแบบโอเพนซอร์ส ผ่านชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นปัจจุบัน และผู้ใช้งานไม่น้อยกว่า 400 ล้านคนจึงเกิดขึ้นได้ในเวลาเพียง 16 ปี

เรียกได้ว่า WordPress มีครบทั้ง โมเดลธุรกิจแบบ Scalable, การ Leverage แบบคลาวด์ซอส และการทำงานแบบ Remote

ส่วนอีกบริษัท คือ WP Curve ที่ CEO Channels เคยเขียน ประวัติผู้ก่อตั้งไว้ ที่นี่ และ เวอร์ชั่นวีดีโอ ที่นี่ และขอนำมาเป็นตัวอย่างอีกครั้งเพราะโมเดลธุรกิจของ WP Curve มีความเป็นไปได้สำหรับคนไทยมากกว่า นั่นคือ ธุรกิจบริการ

WP Curve ก่อตั้งโดย Dan Norris (แดน นอร์ริส)

โปรแกรมเมอร์ผู้เชี่ยวชาญการใช้ WordPress เป็นพิเศษ และเขาได้เปิดให้บริการ ดูแลหลังบ้าน WordPress แบบจ่ายรายเดือน โดยแยกเป็น 3 แพกเกจการให้บริการที่ชัดเจน และจะดูแลให้ตามสัญญาการทำงานที่กำหนดเท่านั้น นั่นจึงทำให้งานบริการของเขาไม่จับฉ่ายจนเกินไป

การทำงานสามารถทำจากที่บ้าน 100% โดยในช่วงเริ่มต้น แดน เป็นผู้ดูแลหลังบ้านเว็บไซต์ให้ลูกค้าด้วยตนเองทั้งหมด จนกระทั่งธุรกิจเติบโต เขาจึงเริ่มจ้างผู้เชี่ยวชาญ WordPress ตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อสแตนด์บายทำงานแบบเวียนกะตลอด 7 วัน/ 24 ชั่วโมง

WP Curve ก่อตั้งในปี 2013 และขายกิจการให้ GoDaddy ในปี 2016 ด้วยตัวเลขที่ไม่เปิดเผย โดยก่อนขายกิจการ WP Curve มีพนักงาน 39 คน ทำงานจากที่บ้าน 100% และตัวของ แดน มีรายได้ที่เกือบจะเป็น Passive income เดือนละหลักล้านบาท

WP Curve เป็นธุรกิจที่มีครบทั้ง Scalable, Leverage และ Remote และ นี่คืออีกโจทย์ที่คุณต้องถามตัวเองว่า ไอเดียธุรกิจใหม่ของคุณสามารถทำงานแบบ Remote ทั้งบริษัทได้หรือไม่

4. Cloud base

สำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงซอฟต์แวร์ และไอทีอาจไม่คุ้นกับคำว่า ‘คลาวด์’ หรือ คลาวด์คอมพิวติง — อย่างไรก็ดี ในชีวิตประจำวันของทุกคนต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับ คลาวด์ โดยไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่าง

  • บัญชี Gmail ที่คุณใช้สื่อสารแทนจดหมาย
  • โปรแกรม Dropbox ที่คุณใช้เก็บข้อมูลแทนแฟลชไดร์ฟ
  • หรือแม้แต่ Facebook ที่คุณใช้โพสต์รูปภาพและวีดีโอของครอบครัว

ทั้งหมดนี้ คือ คลาวด์ — และต่อไปนี้จะอธิบายเพิ่มเติมโดยย่อเพื่อให้คุณเห็นโลกของ คลาวด์ โดยสังเขปก่อนเข้าเรื่องธุรกิจ

โลกของ คลาวด์ โดยสังเขป

โลกของ คลาวด์ โดยสังเขป แบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ IaaS, PaaS และ SaaS

IaaS ย่อมาจาก Infrastructure as a Service

เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริหารธุรกิจอินเตอร์เน็ต ได้แก่ Data storage, Networking, และ Virtualization แปลเป็นภาษามนุษย์ก็คือ เซิร์ฟเวอร์ แต่แทนที่จะซื้อเซิร์ฟเวอร์มาตั้งเองที่บริษัท ก็หันไปใช้บริการผ่าน ‘คลาวด์เซิร์ฟเวอร์’ ซึ่งนอกจากจะประหยัดพื้นที่แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า และเป็นการจ่ายแบบ On-demand ปรับเปลี่ยนสเป็กตามความเหมาะสมของธุรกิจ

ผู้ให้บริการ IaaS ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Digital Ocean, Amazon Web Service และ Google Compute Engine 

PaaS ย่อมาจาก Platform as a Service

เป็น ‘คลาวด์แพลทฟอร์ม’ สำหรับการสร้าง และบริหารจัดการ ‘คลาวด์แอปพลิเคชัน’ อีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างซอฟต์แวร์สร้างโรงเรียนออนไลน์ Teachable.com ที่ CEO Channels ใช้ทำโรงเรียนออนไลน์ Expertsity ก็พัฒนาผ่าน PaaS เช่นกัน โดยกรณีนี้ใช้แพลทฟอร์ม Heroku.com

SaaS ย่อมาจาก Software as a Service

เป็นผลผลิตของทั้งสองระบบที่กล่าวไป กล่าวคิอ SaaS เป็นปลายทางที่ เจ้าของซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชั่น และ เอนด์คอนซูมเมอร์ มาเจอกัน อาทิ  CEO Channels จัดอยู่ในกลุ่ม เอนด์คอนซูมเมอร์ ของโปรแกรม Teachable เป็นต้น — ตัวอย่างอื่น ๆ ได้แก่ Gsuite, Dropbox, Shopify และ FlowAccount เป็นต้น

ข้อได้เปรียบในการนำ คลาวด์คอมพิวติง มาใช้กับธุรกิจสมัยใหม่

1. ใช้เงินลงทุนต่ำ : คุณไม่ต้องลงทุนกับเซิร์ฟเวอร์ที่มีราคาและค่าดูแลแพง และไม่สิ้นเปลืองพื้นที่จัดเก็บให้ปลอดภัย

2. ต้นทุนในการทำซ้ำต่ำ : สินค้าและบริการประเภท SaaS ไม่มีต้นทุนในการทำซ้ำเหมือนสินค้า และบริการที่มีตัวตนเป็นชิ้น ๆ คุณจึงมีอัตราเปอร์เซนต์กำไรที่สูงขึ้นเมื่อขยายกิจการ และความไม่มีตัวตนยังทำให้กิจการยังมีโอกาสโตแบบ Exponential growth

3. ทำธุรกิจจากที่ไหนก็ได้ : เพราะสินค้าและบริการไม่มีตัวตนในโลกออฟไลน์ การใช้งานอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งเจ้าของ และลูกค้าต่างสามารถเข้าถึงระบบจาก สมาร์ทโฟน เครื่องเดียว นั่นจึงเป็นสาเหตุให้บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งไม่ต้องมีออฟฟิศนั่นเอง

นี่คืออีกโจทย์ที่คุณต้องถามตัวเองว่า ไอเดียธุรกิจใหม่ของคุณอยู่ในรูปแบบ Cloud หรือไม่

สรุป

คำว่า ‘ขายอะไรดี’ ไม่ใช่โจทย์อันดับหนึ่งในวันที่ข้อมูลทั้งโลกเข้าถึงง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก — วันนี้โจทย์ที่สำคัญกว่า คือ โมเดลธุรกิจแบบไหนที่จะสอดคล้องกับ เทคโนโลยี ที่กำลังเติบโตแบบ Exponential growth

โลกเขาเราได้ผ่านยุคการทำงานแบบสายพานมนุษย์ไปนานแล้ว และอีกไม่นานก็จะผ่านยุคของการทำงานแบบตอกบัตรเข้าออฟฟิศเช่นกัน

โมเดลธุรกิจแห่งอนาคตที่คุณต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ คือ ไอเดียธุรกิจของคุณในวันนี้รองรับรูปแบบการทำงานแบบ Scalable, Leverage, Remote และ Cloud base ได้หรือไม่นั่นเอง