3 เทรนด์เทคโนโลยีธุรกิจแฟชั่นปี 2017 ที่จะให้คุณแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ได้ดีขึ้น

ขึ้นชื่อว่า ธุรกิจแฟชั่น เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเวทีของการแสดงความคิดสร้างสรรค์ และบรรดานักออกแบบที่จะมีอิทธิพลในวงการนี้ต้องมีไอเดียสุดสร้างสรรค์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเฉือนชนะคู่แข่งได้ด้วยความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นี่คือจุดเด่นที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้แตกต่างจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยได้สัมผัสกับความผันผวนเท่าใดนัก ถ้าแฟชั่นไม่มีการปรับตัวหรือนำเอาอะไรใหม่ ๆ มาให้กับผู้บริโภค งานนี้สิ่งที่คุณจะได้รับคือความไม่พอใจของลูกค้า รู้แบบนี้แล้วต้องมาดูกันว่าในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่น… คุณกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอะไรในเร็ว ๆ นี้

Drew Hendricks นักการตลาดออนไลน์อิสระผู้ทำงานให้กับกลุ่ม Tech Startup ในอเมริกาและเป็นนักคิดนักเขียนประจำเว็บไซต์ดัง ๆ อย่าง Forbes และ Inc.com นำเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงในวงการแฟชั่นจากการได้คลุกคลีกับนักธุรกิจ Tech มาสรุป 3 แนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดกับธุรกิจแฟชั่นดังนี้

Crowdsourced Design การออกแบบแนวใหม่ที่ไม่ได้มาจากคน ๆ เดียว

Tech startup ก่อให้เกิดกิจกรรมการทำงานแบบ ‘ลงขัน’ อย่างเด่นชัด อาทิ Crowd Funding ระดมทุนเพื่อสร้างธุรกิจ สินค้า และบริการ และ Crowd translation การระดมนักแปลมาแปลงานเป็นเศษส่วนย่อย ๆ (Fraction) แล้วนำมาประกอบกันเป็นชิ้นงาน และวงการแฟชั่นก็กำลังจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ในรูปแบบ Crowdsourced design

เป็นแนวทางการออกแบบด้วยการ ‘ระดมความคิด’ หรือบ้าน ๆ เรียกว่า ‘สุมหัว’

การระดมความคิดเพื่องานออกแบบแฟชั่นเป็นแนวโน้มที่กำลังได้รับความสนใจและการเติบโตได้ดีในอุตสาหกรรมแฟชั่น Crowdsourced design มาจากแนวคิดที่ว่า บริษัทผู้ผลิต ผู้ออกแบบ และผู้บริโภค ได้ทำงานร่วมกันเพื่อร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยที่นักออกแบบจะทดลองออกแบบสินค้าออกมาและให้ผู้บริโภคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสินค้านั้น ๆ วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการออกแบบ และลดการลงทุนให้ผู้ผลิตได้ดี สุดท้ายก็จะได้สินค้าออกมาถูกใจลูกค้า

Ryan Kang ผู้เป็น CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง ROOY แพลตฟอร์มการสร้างรองเท้าออนไลน์อธิบายถึงวิธีการออกแบบ Crowdsourced design ว่าอาจปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นได้เลย โดยกล่าวว่า…

“การออกแบบด้วยการระดมความคิด เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้แบรนด์ได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการอย่างแท้จริง จุดมุ่งหมายของการออกแบบด้วยวิธีนี้เพื่อการสร้างความร่วมมือ โดยมีผู้บริโภคอยู่เบื้องหลัง”

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะต้องพิจารณาซึ่งอยู่เบื้องหลังความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการออกแบบ Crowdsourced โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมรองเท้า คือวิธีนี้สามารถขจัดอุปสรรคในการออกแบบให้กับนักออกแบบได้ Kang อธิบายว่า…

“อุปสรรคสำคัญ 3 ประการที่ขัดขวางไอดียดี ๆ ให้ไม่สามารถถูกผลิตออกมาเป็นชิ้นงานได้จริงได้แก่ โครงสร้างทางกายภาพของผู้ใช้งาน (ลูกค้า), ความสามารถในการผลิต (โรงงาน) และเรื่องของการตลาดและแบรนด์ (หน้าร้าน) — ซึ่งการออกแบบด้วยวิธีระดมความคิดนี้นำเอา การรวมขีดความสามารถเหล่านี้เข้าเป็นแพลตฟอร์มเดียวกันโดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของนักออกแบบให้มากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้อาจมีอุปสรรคในเรื่องการยอมรับแนวคิดการออกแบบที่จะนำไปผลิตออกสู่การขายสำหรับฐานของผู้บริโภคขนาดใหญ่”

จากการกำจัดอุปสรรคสำหรับนักออกแบบ ทำให้ บริษัทอย่าง ROOY เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) มันทำให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงแนวคิดของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ นั่นยิ่งตอกย้ำว่า การออกแบบด้วยวิธี Crowdsourced จะทำให้ผู้บริโภคมีอิทธิพลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น

เตรียมรับมือกับ ข้อมูลที่มากมายมหาศาลสำหรับแฟชั่น (Big Data for Fashion)

อุตสาหกรรมแฟชั่นเหมือนว่าถูกครอบงำด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ผู้ที่บอกว่าอะไรเป็นสิ่งที่เป็นที่นิยมและอะไรที่เป็นส่วนเกินจากการผลิต นั่นทำให้นักออกแบบและผู้ค้าปลีกจำนวนมากรู้ว่าสินค้าอะไรจะไม่เป็นที่นิยมและหากเข้าไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ ก็จะสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์ในธุรกิจแฟชั่นได้ จากการศึกษาของ McKinsey พบว่านี่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อร้านค้าปลีกและทำให้สามารถเพิ่มอัตรากำไรได้มากกว่าร้อยละ 60

ผู้เล่นที่สำคัญในอุตสาหกรรมแฟชั่น อย่าง Nordstrom ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เริ่มจะบูรณาการข้อมูลในการตัดสินใจ โดย Chief Information Officer ของ Nordstrom อย่าง Dan Little อธิบายว่า

“เรามีเทคโนโลยีที่จะให้การสนับสนุนแผนการขยายการเติบโตระยะยาวของเรา”

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจำนวนของบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ที่ให้บริการข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวกับวงการแฟชั่นและธุรกิจแฟชั่นค้าปลีกอีกมากมาย ทาง EDITD CEO นาม Geoff Watts ได้ให้ทัศนะว่าทำไมร้านค้าปลีกจึงเข้าไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลประเภทนี้ว่า

“เราสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อเป็นข้อมูลการกำหนดวงรอบของการจัดให้มีส่วนลดและการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายได้ทั้งอุตสาหกรรม”

มันเป็นที่ชัดเจนว่าร้านค้าปลีกจำนวนมากหันมาใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนเพื่อให้ข้อเสนอที่ดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาต่อลูกค้า มากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีในธุรกิจแฟชั่นกำลังได้รับความสำคัญ (Fashion Tech)

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมแฟชั่นจำนวนมากกำลังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่มีผลต่อวงการแฟชั่น สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปไกลมาก Barkley’s American Millennial Report แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 50 ของคนยุคใหม่ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อหาข้อมูลสินค้า อย่างการอ่านงานวิจัยออนไลน์ การรีวิวสินค้า ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า

อีกแนวโน้มสำคัญเกิดจากการขับเคลื่อนโดยการปะทะกันของการค้าปลีกแบบดั้งเดิมและการใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนการขายสินค้าแฟชั่นของร้านค้ายุคใหม่ ในยุคของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Omni channel ที่สามารถตอบสนองความพอใจของลูกค้าได้ดีเยี่ยม เช่น เมื่อลูกค้าเข้าไปเลือกซื้อเสื้อผ้าผ่าน

E-Commerce ระบบสามารถตรวจสอบว่ามีสินค้าที่สาขาใดที่ใกล้ลูกค้าที่สุด นอกจากนั้นยังสามารถดึงข้อมูลเสื้อผ้าที่ลูกค้าต้องการมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้า และสามารถทำการเสนอสินค้าใหม่ๆให้ลูกค้าได้ในโอกาสต่อไป ได้เป็นอย่างดี

การศึกษาของ IBM เกี่ยวกับผลกระทบของ Omni channel ในการค้าปลีกพบว่าร้านค้าประเภท brick-and-mortar stores หรือร้านค้าที่มีหน้าร้านจริงและทำการสื่อสารกับลูกค้าโดยมีช่องทางออนไลน์ มี conversion rates หรือ อัตราส่วนของการเข้าชมเนื้อหาในเว็บไซต์ที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกที่มีเพียงร้านออนไลน์ ที่มีคนสนใจเข้าชมเพียงร้อยละ 4.8 นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนมีผลต่อการส่งเสริมการขายในธุรกิจแฟชั่นและช่วยให้ร้านค้าสามารถส่งมอบคุณค่าของสินค้าไปสู่ผู้บริโภคก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจไปซื้อสินค้าได้มากทีเดียว

แนวโน้มเหล่านี้ กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการแฟชั่น มันมีความสำคัญสำหรับนักออกแบบ แบรนด์สินค้าและผู้บริโภค อย่างมาก เพราะทำให้ทั้งสามส่วนเกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม เทคโนโลยีจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อคิดหาวิธีใหม่ๆในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และเป็นการสร้างช่องทางติดต่อกับผู้บริโภค ผลที่ตามมาจะทำให้นักออกแบบ และ แบรนด์ สามารถตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้นและเกิดของเสียน้อยจากสายผลิตภัณฑ์ลดลง