3 ข้อหา น้ำอุ่น มีโทษสูงสุดอะไรบ้าง

ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต

กรณีข่าวที่กำลังเป็นประเด็นร้อนที่สุดในสังคมไทยตลอดทั้ง 2 สัปดาห์ของเดือน กันยายน 2562 คือ ข่าวเหตุการณ์ นายรัชเดช วงศ์ทะบุตร หรือ น้ำอุ่น อายุ 24 ปี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์เสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลันลาเบล สาวผู้ประกอบอาชีพพริตตี้

เหตุการณ์โดยคร่าว คือ น้ำอุ่น นำร่างที่ไม่ได้สติของ พริตตี้สาว ลันลาเบล ออกมาจากงานปาร์ตี้ ณ บ้านย่านบางบัวทอง ไปยังคอนโดย่านท่าพระ ก่อนที่จะนำร่างของ ลันลาเบล ลงมาวางไว้บนโซฟาที่ล็อบบี้เพื่อให้เพื่อนของเธอมารับกลับไป ต่อมาจึงพบว่า ลันลาเบล ได้เสียชีวิตลงแล้ว ก่อนจะกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก และการสืบสวนต่าง ๆ มีความซับซ้อนโดยเฉพาะ สาเหตุการณ์เสียชีวิต และ ช่วงเวลาการเสียชีวิต เพราะมีผลต่อการแจ้งข้อหา และรูปคดี (อ่านรายละเอียดไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่ ไทยรัฐ)

ในที่สุด ผลการตรวจทางนิติเวชศาสตร์ พบว่า น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลันลาเบลลัน เสียชีวิตจาก Alcohol Intoxication หรือ ภาวะพิษสุราในเลือดสูง โดยพบว่ามีปริมาณสูงถึง 400 มล.ก. ซึ่งเป็นระดับวิกฤต และจากการสืบสวนต่อมาของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมอนุมัติหมายจับ แก่ นายรัชเดช วงศ์ทะบุตร หรือ น้ำอุ่น เมือวันที่ 24 กันยายน 2562 จำนวน 3 ข้อหา ได้แก่ :

  1. หน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
  2. พาไปเพื่อกระทำอนาจาร
  3. กระทำอนาจาร

ถึงแม้กระแสชาวโซเชียลมีเดียบางส่วนยังไม่พอใจกับข้อกล่าวหา โดยอาจเข้าใจว่าข้อกล่าวหาไม่แรงพอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อกล่าวหาเหล่านั้นมีบทลงโทษสูงสุดอย่างไรบ้าง ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต ได้อธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีผ่านเว็บไซต์ อีจัน ดังต่อไปนี้

รายละเอียดเบื้องต้นทางกฏหมายสำหรับทั้ง 3 ข้อหา ได้แก่

ข้อหา 1 กักขังหน่วงเหนี่ยว โทษสูงสุดจำคุก 3 – 20 ปี

มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยว หรือ กักขังผู้อื่น หรือ กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น ถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น

มาตรา 290 ผู้ใด มิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 5 ปี ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 20 ปี

ข้อหา 2 พาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โทษสูงสุดจำคุก 1 – 10 ปี

มาตรา 284 ผู้ใดพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท ผู้ใดซ่อนเร้นบุคคลซึ่งถูกพาไปตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พาไปนั้น

ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดอันยอมความได้

ข้อหา 3 อนาจารผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 278 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 280 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 278 หรือมาตรา 279 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ

(1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท

(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ข้อหานี้ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอีกครั้ง ว่าการตายเป็นผลโดยตรงจากการถูกกระทำอนาจาร และขณะที่ถูกอนาจารยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งมีผลให้อัตราโทษเปลี่ยนแปลงไป

ทนายเจมส์ นิติธร ได้เล่าผ่านเว็บไซต์ อีจัน ต่อว่า 

การอุ้มลัลลาเบลออกจากบ้านนั้น ตรงนี้คือการกังขังหน่วงเหนี่ยวแล้ว แล้วจากพฤติการร์ที่ผ่านๆ มาของเขา เขาอุ้มไปที่ห้องอันนี้คือเจตนาเพื่อการอนาจาร ส่วนจะอุ้มไปเพื่อข่มขืนหรือไม่อันนี้มันไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นก็ต้องเป็นเพื่อการอนาจาร มาตรา 310 กับมาตรา 284 จะพ่วงกันอยู่ มาตรา 284 ก็คือการพา บุคคลไปเพื่อการอนาจาร เนื่องจากว่ามันไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการข่มขืน มันก็เลยหยุดอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นโทษคือมาตรา 310 290 289 (4) รับโทษสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ตามมาตรา 290 วรรค 2

ส่วนในเรื่องการพาบุคคลไปเพื่อการอนาจาร มีโทษไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเคสนี้มันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท อนาจารจะเกิดขึ้นตามจุดมุ่งหมายสุดท้ายของ เขาคือเขาพาไปเพื่อการอนาจาร คือ มีการถอดเสื้อผ้า เปลี่ยนเสื้อผ้า ขณะที่ อนาจารตามมาตรา 278 แล้วการอนาจารนั้นถ้าสมมติว่าทำให้คนตาย โทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แต่ถ้าเกิดว่าน้องเบลตายที่บ้านเท่ากับว่าอุ่นอุ้มศพออกมาโดยที่สำคัญผิดว่าเป็นบุคคลกรณีนี้โทษจะลดครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ในส่วนที่หลายคนเกิดข้อกังว่าน้ำอุ่นจะหลุดคดีหรือไม่ ตนมองว่ายังไงก็น้ำอุ่นก้ต้องได้รับโทษตามกฎหมายแน่นอน

Appendix :

https://www.ejan.co/news/5d8b0ed26f79d

https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2918900

https://www.thairath.co.th/news/society/1664481

https://hilight.kapook.com/view/193966

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848218