กระทรวงคมนาคม เผยเป็นไปได้กรณีเปิดเสรี Grab

วันที่ 7 กันยายน 2562 นาย จิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม เผยความคืบหน้านโยบาย เปิดเสรีบริการรถส่วนบุคคลร่วมเดินทาง หรือ Ride Hailing Service ตามนโยบายของนาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า กระทรวงคมนาคมได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ได้ข้อสรุปว่าสามารถทำได้จริง โดยจะเริ่มจากบริการ Grab Taxi จากนั้นจะหาแนวทางแก้กฎหมายพระราชบัญญัติขนส่ง เพื่อเปิดทางให้รถจักรยายยนต์ร่วมเดินทาง หรือ Grab Bike สามารถใช้บริการได้จริง

การผลักดัน Grab Taxi ให้ถูกกฏหมายในครั้งนี้จะต้องผ่านการแก้กฏกระทรวงคมนาคม โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นหลัก ๆ 3 หมวด ได้แก่

1. ต้องเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น

ห้ามวิ่งรับผู้โดยสารตามท้องถนน หรือห้ามจอดรอรับผู้โดยสารตามจุดจอดของรถแท็กซี่ เพื่อป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาท และติดป้ายสัญลักษณ์บนรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อแสดงว่ารถคันนี้เป็นผู้ให้บริการ Ride Hailing Service

2. ต้องชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น

ชำระผ่านค่าโดยสารแอปพลิเคชันมือถือ หรือระบบสแกน QR Code หรือชำระแบบการโอนผ่านบัญชีหรือการตัดบัตรเครดิต เพื่อรับประกันว่าเงินทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบและมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องภายในประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้เอกชนไปพัฒนาระบบชำระเงินดังกล่าวมาด้วย

3. รถให้บริการลงทะเบียนผ่านแอปพลิชันและตรวจสอบได้

รวมไปถึงมีการยืนยันอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสภาพรถตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก สอบใบขับขี่สาธารณะ ตลอดจนมีประกันภัยครอบคลุมดูแลค่าเสียหายให้ผู้โดยสาร ทั้งในกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิต

ทั้งนี้ การบริการฝั่งรถจักรยานยนต์ Grab Bike นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่ารถยนต์เนื่องจากมีข้อผูกพันเรื่องกฎหมายกับหลายหน่วยงาน จึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

นายจิรุตม์กล่าวต่อสื่อว่า

“การพัฒนาบริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมบริการขนส่งสาธารณะให้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น ประชาชนมีสิทธิ์เลือกรูปแบบบริการที่ต้องการว่า จะโบกเรียกแท็กซี่หรือเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น

โดยการเปิดเสรีครั้งนี้ จะเป็นช่วงทดลองระยะ 6 เดือน- 1 ปี เพื่อดูความเหมาะสมและเสียงตอบรับ หากระยะเวลาในช่วงดังกล่าวเอกชนไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นหรือมีเหตุอาชญากรรมรุนแรงหรือสิ่งใดที่กระทบต่อคุณภาพบริการสาธารณะ กระทรวงคมนาคมมีสิทธิ์ยกเลิกเรื่องนี้ได้ทันที”

ส่วนกรณีรถจักรยานยนต์ นายจิรุตม์กล่าวว่า

“ผู้ขับขี่ทั้งในปัจจุบันและผู้ขับขี่ที่ลงทะเบียนกับแอพพลิเคชั่น จะถูกจัดโซนนิ่งให้บริการ เช่น ผู้โดยสารเรียกบริการจักรยานยนต์ผ่านแอพพลิเคชั่น ระบบจะจัดผู้ขับขี่ที่ใกล้โซนที่ผู้โดยสารอยู่มากที่สุดให้ แต่ถ้าไม่มีก็จะจัดผู้ขับขี่ที่อยู่โซนใกล้เคียงกันให้มารับได้ โดยมีเงื่อนไขเหมือนรถยนต์ คือ Grab Bike ห้ามโบกเรียกตามท้องถนน ต้องเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น ทั้งนี้จะเริ่มใช้ได้เมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ตอนนี้”