7 กลเม็ดพื้นฐาน: สร้าง Digital Content อย่างมืออาชีพตั้งแต่วันแรกบนโลกออนไลน์

‘Content Isn’t King, It’s the Kingdom.’
Lee Odden, Optimize: How to Attract and Engage More Customers by Integrating SEO, Social Media, and Content Marketing

Digital Content หรือ เนื้อหาบนโลกออนไลน์ คือองค์ประกอบสำคัญของเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ฯลฯ วิธีการนำเสนอเนื้อหาสามารถบ่งบอกคาแรคเตอร์ของเจ้าของอันนำไปสู่การสร้างแบรนด์ และการสร้างแบรนด์บุคคลบนโลกออนไลน์ตามลำดับ บางคนพิถีพิถันกับการผลิตเนื้อหาที่ล้ำลึก บางคนสร้างขึ้นมาแบบเรียบง่ายเน้นปริมาณมากเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวบนสื่อออนไลน์ และบางคนก็ทำแบบขอไปทีจนถึงขั้น Copy & Paste จากของชาวบ้านเขามาเลย

เมื่อ Content ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ หรือโซเชี่ยลเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายความสำเร็จของการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ของคุณ คุณควรทำอย่างไรให้งานนี้ประสบผลลัพธ์ที่ดี ต่อไปนี้คือ 9 หลักคิดทำ Content บนโลกออนไลน์อย่างไรให้ก้าวหน้า

1. อย่า Copy & Paste

การ Copy & Paste บทความแล้วแปะเครดิตให้ทำให้คุณมี Content ง่ายๆ ภายใน 5 นาที แต่คุณรู้หรือไม่การทำเช่นนั้นต่อให้ให้เครดิตแต่ไม่แจ้งและขออนุญาตเจ้าของก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในทางกฎหมาย

หากไม่นับเรื่องข้อกฎหมาย ผลเสียที่คุณจะได้รับในเชิงการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ในระยะยาวคือ ไม่เกิด Authority หรือความเป็นตัวจริง หรือความเป็นผู้นำในสิ่งที่เขียนถึง ทำให้ไม่เกิด Personal branding และส่งผลกระทบต่อไปยังเชิงเทคนิค ได้แก่เรื่องการทำอันดับใน Google search engine เนื่องจาก อัลกอริธึม (โปรแกรมคำนวณและจัดอันดับผลการค้นหาของ Google) จะมองว่าคุณเป็น Duplicate content ซึ่งเมื่อถูกจับได้ก็มีโอกาสถูกลงโทษ

มีคนที่ Copy & Paste บทความจาก CEOblog ไป ถึงแม้จะให้เครดิต แต่บทความที่ก็อปปี้ไปก็ไม่ติดอันดับบน Google search อาจจะมีหลุดๆ ให้เห็นในหน้า 1-3 กันอยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าในระยะยาว อัลกอริธึม จะพัฒนาให้ฉลาดและดักจับ Duplicate content ได้เก่งขึ้น

2. เนื้อหาดีมีประโยชน์ และต้องเชื่อถือได้

ระยะหลังมีเว็บไซต์บางรายใช้วิธีตั้งชื่อหัวข้อให้น่าคลิ๊ก (Click bait) เน้นอึ้งทึ่งเสียว ดราม่า หรือเกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพที่น่าตกใจ ด้านในเป็นข้อมูลบางๆ ประมาณ 5-10 บรรทัดจบ ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือและอาจส่งผลเสียของบุคคลที่ถูกพูดถึง

ยกตัวอย่างเช่น บทความจับแพะชนแกะ เอาภาพอุบัติเหตุแห่งหนึ่งไปประกอบกับคนมีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง หรือการบอกวิธีรักษาโรคร้ายแรงที่ไม่บอกแหล่งที่มาของการวิจัย อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดถึงชีวิต — เป็นต้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบทความดังกล่าวมักได้รับการแชร์กระจายในโซเชียลและเมื่อคนมารู้ภายหลังว่ามันไม่จริงจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็คอมเมนต์ด่าเจ้าของเว็บไซต์กันระงม

การสร้าง Content ที่ดีคือมีประโยชน์และต้องสมเหตุสมผล หากเป็นความรู้จากประสบการณ์ คุณควรมีประสบการณ์ในสิ่งที่เล่ามาเป็น Safety ให้กับตนเอง หากสังเคราะห์จากแหล่งข้อมูลใดๆ ให้อ้างถึงสักนิดให้พอรู้ ถ้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอิงหลักวิชาการและงานวิจัย ควรบอกถึงลิงค์เว็บไซต์ที่เป็นแหล่งข้อมูล หรือชื่อเอกสารอ้างอิงอย่างตรงไปตรงมา

เหล่านี้เป็นสิ่งที่เว็บไซต์ต่างประเทศให้ความสำคัญมาก แต่ยังเป็นจุดที่ถูกละเลยจากผู้ผลิต Content ในเมืองไทยอยู่พอสมควร บางทีเราอาจคิดว่าการให้เครดิตมันไม่เท่ห์ แต่จริงๆ มันเท่ห์ครับ มันแสดงถึงการเป็นนักแสวงหาความรู้ และให้เกียรติเจ้าของเนื้อหาที่ทำให้คุณได้รู้และได้เรื่องมาบอกเล่า

3. ตั้งชื่อหัวข้อเรื่องให้น่าสนใจ

การตั้งชื่อหัวข้อเรื่อง เปรียบเสมือน First impression เวลาเราพบกับใครสักคน
บ่อยครั้งที่เราตัดสินคนจากภายนอกเพียบสบตาแค่แวบเดียว Content ก็เช่นกัน

แต่ละวันผู้เสพสื่อต้องเจอกับเนื้อหามากมายบน Facebook การตัดสิน Click ไปยังเว็บไซต์ หรือ Click เพื่ออ่านต่อ มีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ยิ่งเป็นการ Click ไปยังบทความในเว็บไซต์ซึ่งคนต้องเสียเวลาโหลดหน้าเว็บเพจต่ออีก ดังนั้นชื่อหัวข้อต้องให้เขารู้สึกว่าได้อะไร และเนื้อหาที่อยู่ข้างในก็ต้องได้อะไรสมชื่อหัวข้อเช่นกันครับ!

4. เป็นคำตอบ ให้กับปัญหาชีวิต

เหตุผลเดียวที่คนเข้า Google เพื่อค้นหาคำตอบให้กับปัญหาของเขา…

ปัญหาขาดข้อมูลสินค้าและบริการที่สนใจเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ
ปัญหาในการทำธุรกิจเฉพาะจุดที่ต้องการแนวทางแก้ไข
ปัญหาหัวใจที่อยากได้ทางออก
ปัญหาชีวิตและสุขภาพร้ายแรงชี้เป็นชี้ตาย
ฯลฯ

เมื่อ 4-5 ปีก่อนผมก็มีปัญหาขาดความรู้ในการทำธุรกิจและการตลาดออนไลน์ ผมเข้า Google และเจอกับบทความที่มีประโยชน์มากมายจนสามารถเริ่มจากศูนย์สู่ธุรกิจออนไลน์ยอดขายหลักล้านในปัจจุบัน หนึ่งในบทความที่ทำให้ผมมีวันนี้มาจากเว็บไซต์ Smart Passive Income โดย Pat Flynn ทำให้ผมกลายเป็นสาวกและผู้ประชาสัมพันธ์ (โดยไม่เอาค่าตัว) ให้กับเจ้าของเว็บจวบจนปัจจุบัน

คุณลองสำรวจตัวเองว่าเว็บไซต์และเฟซบุ๊คเพจของคุณต้องการทำเพื่อใคร คุณได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อันจะตอบโจทย์ชีวิตเขาหรือไม่?…

กลุ่มเป้าหมายจะอยู่กับคุณตราบเท่าที่เขาได้รับ Content ดีๆ อย่างที่เขาตามหา ไม่ว่าเนื้อหาของคุณจะสั้น หรือยาว ขอให้เข้าใจง่าย และนำไปใช้ในชีวิตได้จริง

5. ภาพและวิดีโอ

Content ที่เป็นตัวอักษรทำง่ายที่สุด แต่ Content ที่เป็นรูปภาพ และวีดีโอมีพลังในการเข้าถึงผู้คนสูงที่สุด – การทำเนื้อหาแบบ Infographic อาจใช้เวลาในการผลิตนานและมีราคาสูง แต่มันอาจทำให้เว็บไซต์ของคุณเป็นที่รู้จักจากการแชร์กระจายบนโซเชียล เช่นเดียวกับวีดีโอคลิปที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะการตัดต่อวีดีโอ แต่หากทำออกมาดี คลิป 5 นาทีอาจทำให้คนบางคนดังเป็นพลุในข้ามคืน

เนื้อหาประเภทวิดีโอยังคงเน้นความมีประโยชน์ อาจทำสั้นๆ ได้ใจความ มีความคมชัดสูง หากต้องการถ่ายทำวิดีโอประกอบเนื้อหาหรือการนำเสนอข้อมูลด้วยตัวเอง ควรมีความรู้เรื่องอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง และการตัดต่อในระดับหนึ่ง หากไม่สามารถหาฉากหลังที่โดยใจได้ ก็ใช้เป็นสกรีนสีขาวแล้วโฟกัสที่เนื้อหาไปเลยครับ

เพิ่มเติมเรื่องรูปภาพประกอบบทความ กรณีบทความที่เป็น Text แต่ใช้รูปประกอบให้น่าสนใจเมื่อมารวมกับชื่อบทความที่ดึงดูดมันจะมีพลังในการหยุดนิ้วโป้งของคนบนโซเชียลได้อย่างดี ย้ำอีกครั้ง คนสไลด์หน้าจอสมาร์ทโฟนเร็วมาก สิ่งที่จะหยุดเขาได้คือ รูป และ หัวข้อ ครับ

ระวังเรื่องรูปฟรีบน Google เพราะอาจติดลิขสิทธิ์ หากคุณไม่ถ่ายรูปด้วยตัวเองก็แนะนำให้ใช้รูปภาพแบบซื้อ หรือ Stock Photo คุณสามารถค้นหาคำว่า Stock photo จาก Google จะมีหลายเว็บไซต์ให้บริการ เข้าไปเลือกว่าชอบรูปของเว็บไหนแล้วสมัครซื้อได้เลยครับ

6. สร้าง Content อย่างต่อเนื่อง

กฎ 80/20 ของการสร้าง Content คือในจำนวนทั้งหมดที่คุณพิถีพิถันสร้างขึ้นมาอาจมี 20% ที่ได้รับผลตอบรับยอดเยี่ยมและถูกแชร์กระจายไปทั่วประเทศ ส่วนอีก 80% ทำให้เว็บไซต์ของคุณมีความเคลื่อนไหว สดใหม่ และคอยดึงดูดคนเข้ามาเรื่อยๆ – เป็นเรื่องปกติครับ อย่าหยุดผลิต Content อย่างสม่ำเสมอต่อให้มีเพียง 20% ที่มันโครตปังจริงๆ

หากคุณไม่สามารถสร้างความสม่ำเสมอในการสร้าง Content ได้ กลุ่มผู้ติดตามของคุณจะค่อยๆ หายไป ในทางกลับกันหากคุณมีเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ปังบ้าง ไม่ปังบ้าง แต่มันจะช่วยให้ผู้ติดตามเดิมของคุณติดตามต่อไป และดึงดูดผู้ติดตามใหม่จนฐานแฟนของคุณขยายและกลายเป็นชุมชนเล็กๆ ของคุณบนโลกออนไลน์ เรียกว่า Tribe

การมี Tribe จะให้ผลลัพธ์ในวันที่คุณมีสินค้าหรือบริการใดๆ ออกมาขาย คนเหล่านี้คือคนกลุ่มแรกๆ ที่จะสั่งซื้อสินค้าของคุณอย่างไม่ลังเล

7. การบริหารจัดการ Comment จากผู้อ่าน

บทความบนเว็บไซต์ในต่างประเทศมีการ Comment พูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่ในบ้านเราคนอาจไม่ค่อยคุ้นกับการ Comment ใต้บทความ

แต่ถ้าหากมีการ Comment เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าสนใจ แปลว่าบทความนั้นดีมากจนคนรู้สึกอยากเข้ามาคุยด้วย และการตอบกลับ Comment ให้บทความบนเว็บไซต์ก่อให้เกิดการมีตัวตนของเจ้าของเว็บไซต์ และเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยของการสะสม Personal branding ในระยะยาว

Comment บนบทความอาจมีทั้ง แง่บวก แง่ลบ แง่ลบแบบติเพื่อก่อ และแง่ลบแบบด่า ตรงนี้ก็แล้วต่อจะไปจัดการ หากติเพื่อก่อก็นำไปปรับใช้ได้ แต่ถ้ามาด่าเสียหายๆ ก็ลองพิจารณาดูว่าจะอธิบายหรือลบทั้งไป เพราะบางครั้งมันส่งผลเสียต่อบรรยากาศทั้งหมดของบทความนั้นๆ ครับ