Abdul Halim al-Attar

Abdul Halim al-Attar ชาวลี้ภัยรายได้วันละ 50 บาท พลิกชีวิตเป็นเจ้าของร้านอาหารด้วยอานุภาพของ Social Network และ Crowd Funding

เมื่อมีโอกาส ผมมักบอกในงานพูดต่าง ๆ ว่า Social network นั้นไม่ส่วนตัว มันคือสาธารณะ ใช้ผิดอาจพังทั้งชีวิต แต่ใช้ถูกอาจเปลี่ยนชีวิต อย่างผมเองก็มีโอกาสได้งาน ได้ธุรกิจเพราะ Social network และวันนี้มีกรณีศึกษาสุดประทับใจของการเชื่อมโยงกันระหว่าง Social network เครือข่ายสังคมออนไลน์ และ Crowd funding ระดมทุนมวลชน

เมื่อช่วงกลางปี 2015 ผมเชื่อว่ามีหลายคนมีโอกาสเห็นภาพถ่ายที่ไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์ของชายวัย 33 ปีชื่อ Abdul Halim al-Attar เขาเป็นผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อุ้มลูกตระเวนขายปากกาหารายได้ประทังชีวิตไปตามท้องถนนท่ามกลางแดดร้อนในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน

gissur 01ภาพถ่ายนี้เป็นที่สะเทือนใจของผู้คนจำนวนมาก รวมไปถึงนักเขียนบทความและนักพัฒนาเว็บไซต์ชาวนอร์เวย์นาม Gissur Simonarson จนต้องลุกขึ้นมาเปิด Twttier Account เฉพาะกิจชื่อ @Buy_Pen  เพื่อเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Crowd funding แห่งหนึ่งในเครือ Indiegogo ที่มุ่งเน้นด้านสังคมสงเคราะห์ภายใต้ชื่อแคมเปญ Help Abdul and Reem start a new life 

ความตั้งใจแรกของ Gissur S. คือขอระดมเงินช่วยเหลือ 5,000 เหรียญ หรือประมาณ 175,000 บาท แต่เพียงแค่ 22 ชั่วโมง ผู้คนจากทั่วโลกบริจาคเงินให้โครงการ Buy Pen ถึง 58,000 เหรียญ และเมื่อสิ้นสุดแคมเปญ ยอดบริจาคไปปิดที่ 191,405 เหรียญ หรือประมาณเกือบ 6,700,000 บาท ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 15 วัน!

gissur 02

Crowd Funding เปลี่ยนชีวิต

เงินจำนวนนี้ หลังหักค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วถูกแบ่งเป็นสองก้อน ก้อน 90,000 เหรียญที่คนบริจาคผ่านบัตรเครดิตถูกโอนเข้าบัญชี Abdul Halim al-Attar เรียบร้อย เหลืออีกประมาณ 75,000 เหรียญที่บริจาคผ่าน Paypal ที่ติดปัญหาเรื่องการโอนเข้าบัญชีของบางประเทศซึ่งเจ้าของโครงการกำลังหาวิธีแก้ปัญหากับทาง Paypal อยู่ — อย่างไรก็ดี เงินก้อนแรกที่ได้รับไปก็ได้สร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนชีวิตให้แก่ Abdul ถึงสามเรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง สร้างอนาคตให้แก่ลูก ๆ

หลังจากที่อาศัยอย่างแออัดมานาน – วันนี้ Abdul มีกำลังที่จะพาครอบครัวย้ายออกมาเช่าอพาร์ทเมนต์ที่ใหญ่กว่า และแยกห้องนอน ห้องรับแขก และครัวออกเป็นสัดส่วน นอกจากนั้นยังสามารถส่งลูกชายคนโตกลับเข้าสู่โรงเรียน หลังจากที่ต้องออกจากระบบการศึกษาเป็นเวลา 3 ปี!

เรื่องที่สอง สร้างอนาคตใหม่ด้วยธุรกิจส่วนตัว

เงินทุนที่ได้รับทำให้ Abdul มีกำลังในการเปิดกิจการส่วนตัว โดยเขาเริ่มจากการเปิดร้านเบเกอรี่ ต่อด้วยเพิ่มอาหารเคบับ (Kebab) และตามมาด้วยร้านอาหารเต็มรูปแบบ

เรื่องที่สาม สร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ลี้ภัย

เลบานอนมีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 1 ล้านคน ส่วนมากไม่มีงานทำ และมีเงินเลี้ยงชีพคิดเป็นเงินไทยเดือนละเพียงพันกว่าบาท การเปิดกิจการของ Abdul ก่อให้เกิดการจ้างงาน ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวน 16 คนมีงานทำ – แม้เป็นสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้ลี้ภัยทั้งหมด แต่มันคือตัวอย่างที่ดี เมื่อคนหนึ่งหนึ่งคนมีชีวิตดีขึ้น คนหนึ่งคนอาจสามารถสร้างโอกาสให้กับหลายสิบคนทางตรง และหลายร้อยคนทางอ้อมได้แน่นอน

Abdul ให้แง่คิดกับสื่อต่าง ๆ ว่า…

“I had to invest the money, otherwise it will be lost,”
เมื่อมีเงิน จงนำลงทุน ไม่เช่นนั้นมันจะหมดไป

“Stay positive, when God wants to grant you something, you’ll get it”
รักษาใจตัวเองให้เป็นบวก, เมื่อพระผู้เป็นเจ้ามีสิ่งดี ๆ จะมอบให้ อย่างไรเสียคุณก็จะต้องได้มันมาแน่นอน

bb

สรุป…

ส่วนตัวผมเอง (CEOblog) ได้รับโอกาสมากมายเพราะพลังของโลกออนไลน์ ผมได้เจอหุ้นส่วนก็เพราะ Social network และร่วมกันก่อตั้งบริษัทได้เพราะ Crowd funding แต่ทั้งหลายนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Credibility – จงใช้อินเตอร์เน็ตอย่างถูกวิธี จงใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อผู้คน แล้วคุณจะได้รับโอกาสดี ๆ ในระดับพลิกชีวิตครับ