ปี 2015 มีความเคลื่อนไหวมากมายในชีวิตผมโดยมี The CEO Blogger เป็นแม่สื่อ
ผมได้เจอพาร์ทเนอร์และมีโอกาศร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่เป็นการเติมเต็มความฝันและความชอบของผมนั่นคือการทำธุรกิจ Information business ต่อมาผมยังได้คอนเนคกับคนเก่งๆ ที่เป็นไอดอล ผมมีโอกาสได้เเจอนักลงทุน VC (Venture capital) ตัวเป็นๆ เป็นการส่วนตัว และผมมีโอกาสได้ออกโทรทัศน์และลงนิตยสาร
เมื่อผมถามพวกเขาว่าพบเจอและสนใจผมจากช่องทางไหนเป็นหลัก คำตอบเดียวกันคือ ‘จาก Blog’
Blog กลายเป็นออนไลน์โปรไฟล์ที่แสดงอัตลักษณ์ของคุณ ดึงดูดคนที่คุณต้องการเข้ามาหาโดยที่คุณไม่ต้องออกไปหาพวกเขา สามารถเปิดโอกาสสู่การสร้างอาชีพและรายได้อย่างคาดไม่ถึง
แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ
ผลลัพธ์เกิดขึ้นจากการที่ผมตั้งเป้าในใจที่จะเป็นเว็บไซต์ที่มีบทความทำธุรกิจออนไลน์ที่มีประโยชน์เป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย (เป็นการตั้งเป้าในโลกส่วนตัวของผมเท่านั้นครับ ผมไม่รู้และไม่ได้ตามว่าใครเป็นเบอร์หนึ่ง) จากนั้นผมลงทุนกับเวลาในการผลิตบทความที่มีคุณภาพขึ้นมา โดยหนึ่งบทความผมใช้เวลาเขียนระหว่าง 3-6 ชั่วโมง บางบทความผมใช้เวลาศึกษาเป้าหมายเป็นเดือนและวางแผนการเขียนเบ็ดเสร็จเป็นสัปดาห์กว่าจะเสร็จ มีความยาวเฉลี่ย 1,000-3,000 คำ ยกตัวอย่างบทความเรื่องราวของ Tony Hseih
ผลลัพธ์ที่ได้คือ บทความติด อันดับหนึ่ง Google ยาวนานกว่าสองปี แม้ Google algorithm จะอัพเดทวิธีจัดลำดับการค้นหาอย่างไร บทความนี้ก็ยังตราตรึงอยู่บน Search engine และบทความนี้ไม่ว่าผมหรือใครก็สามารถนำไป Re-share ได้เรื่อยๆ ก็ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเสมอ ภาษาอังกฤษเรียกบทความนี้ว่า Evergreen content หรือ เนื้อหาที่ล้าสมัย
จำเป็นหรือไม่ที่ทุกคนต้องเขียนบทความยาวขนาด 2-3 พันคำ
ขึ้นอยู่กับประเภทและวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์
หากคุณทำเว็บรายงานข่าวทั่วไป เว็บไซต์วาไรตี้ที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวที่อ่านง่าย จบเร็ว และเน้นจำนวนของบทความ คุณไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรยาวๆ ประมาณ 300-500 คำก็พอ
แต่ถ้าคุณต้องการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และ Positioning ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งเพื่อที่จะนำคนไปสู่ตัวธุรกิจ สินค้า และบริการอื่นๆ ของคุณ การเขียนบทความที่มีคุณภาพสูงเป็นสิ่งจำเป็น การเขียนบทความคุณภาพนั่นเองเป็นเหตุให้บทความจบลงที่ความยาวเป็นพันคำ
กรณีศึกษาเชิง Google Search Engine: บทความยาวกับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในภาพรวม
หากคุณเป็นเจ้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซขายสมาร์ทโฟน การมี Section ที่เป็นบทความ วิเคราะห์ รีวิว และฮาวทู ที่มีเนื้อหาเชิงลึกคุณภาพสูงช่วยให้คุณแตกต่างจากเว็บไซต์คู่แข่งที่ไม่มีบทความ
ฝรั่งมีการศึกษาว่าลูกค้าออนไลน์จะไม่ตัดสินใจซื้อทันที แต่จะหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับร้านค้าและตัวสินค้านั้นๆ ถ้าเว็บไซต์คุณไม่มีข้อมูล เขาจะไปหารีวิวที่เว็บไซต์อื่นและหากไปเจอเว็บไซต์ที่ขายสินค้าเหมือนคุณแต่มีรีวิวและเนื้อหาเชิงลึกที่ตอบโจทย์เขาได้ ลูกค้าจะมองว่าเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเป็นมืออาชีพมากกว่าและมีโอกาสตัดสินใจซื้อสินค้าจากเว็บไซต์คู่แข่งในที่สุด
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อคู่แข่งเขียนบทความคุณภาพที่มีข้อมูลเชิงลึก มีรีวิว มีรายละเอียดวิธีใช้งานผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนหนึ่งอยู่บนเว็บไซต์เดียวกับที่เขาขายสินค้าและบริการ เนื้อหาเหล่านั้นมีโอกาสติด Google search engine สูงมาก
เมื่อลูกค้าไม่สามารถหาข้อมูลบนเว็บไซต์ของคุณ เขาจะออกไปหาข้อมูลบน Google search engine และนั่นคือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าเจอบทความของเว็บไซต์คู่แข่ง – เพียงหนึ่งบทความเท่านั้นก็เหลือหลายที่จะทำให้ลูกค้าทั้งโลกที่หาสินค้าเดียวกันและด้วยคีย์เวิร์ดเดียวกันพบเจอเว็บไซต์คู่แข่ง!
กรณีศึกษาเชิง Competition: เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Tee Spring
Tee Spring เป็นเว็บไซต์ที่ผลิตและจัดส่งเสื้อยืด โดยเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาออกแบบลายเสื้อผ่านทางหน้าเว็บไซต์ ตั้งราคา ตั้งเป้าขาย และนำ Campaign ไปเปิดขาย Pre-order ผ่านทาง Facebook (ฯลฯ ตาความถนัด) เมื่อได้จำนวนตามเป้าจึงค่อยส่งออเดอร์ให้ Tee Spring นำไปผลิตและจัดส่งให้ลูกค้าปลายทาง Tee Spring และคุณมีส่วนแบ่งแบบ Profit sharing กัน
โมเดลธุรกิจของ Tee Spring ช่วยแต่ละฝ่ายไม่ต้องลงทุนเฉพาะหน้าเป็นจำนวนมาก คนอยากขายเสื้อออนไลน์สามารถนำแบบเสื้อไปขาย Pre-order ก่อน ในขณะ Tee Spring ผู้ผลิตก็มีออเดอร์และเงินสดไปผลิตสินค้าส่งตามจำนวนที่สั่งจริง แอบให้อารมณ์ ‘เสือนอนกิน’ นิดๆ สร้างความพอใจแก่ทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก
แต่โมเดลธุรกิจนี้มี Barrier of entry ต่ำมาก กล่าวคือใครมีทุนมีทีมก็ก็อปปี้โมเดล Tee Spring ได้เลย และวิธีที่ Tee Spring ใช้ในการรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจที่ใครก็ก็อปปี้โมเดลธุรกิจได้คือ ‘บทความ’
Tee Spring มีการลงทุนมหาศาลกับ บทความ
โดยเปิด Section หนึ่งขึ้นมาเรียกว่า Tee Spring University เป็นมหากาพย์บทความสอนการตลาดออนไลน์เพื่อคนทำ Tee Spring โดยเฉพาะ แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้แก่ Find Your Audience, Design Your Product, Tell the World, Advance Training และ Story แต่ละกลุ่มมีบทความย่อยกลุ่มละ 5-23 บทความสอนละเอียดมากชนิดที่ว่าถ้าทำออกมาเป็นหนังสือหรืออีบุ๊คอาจขายดี แต่ทั้งหมดนี้เขาให้อ่านฟรี
การลงทุนกับบทความของ Tee Spring โดยการเปิดส่วนที่เป็น University นี้เองทำให้เว็บไซต์ของเขาแตกต่างและกลายเป็น Expert ในธุรกิจนี้จากสายตาของผู้ใช้งาน
กรณีศึกษาเชิง Statistic: โดยกูรู Content Marketing มิสเตอร์ Neil Patel
Neil Patel เป็นนักธุรกิจซอฟต์แวร์เจ้าของ Crazy Egg และ Kiss Metrics และยังเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์สาย Search Engine Optimization และ Content Marketing ได้รวบรวมสถิติต่างเกี่ยวกับบทความยาวมานำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ
Neil Patel นำสถิติจาก serpIQ analyzed มาขยายความต่อว่าจากกรณีศึกษา 10 อันดับบทความติด Search engine จาก 20,000 คำค้นหาที่นำมาทำกรณีศึกษาพบว่า บทความอันดับ 1 มีจำนวนคำโดยเฉลี่ย 2416 คำ และบทความติดอันดับ 10 มีจำนวนคำโดยเฉลี่ย 2032 คำ

มองโดยผิวเผินคนทั่วไปจะตีความว่า Google ชอบ ‘บทความยาว’
ข้อเท็จจริงคือ Google ไม่ได้มีความรู้สึกว่า ‘ชอบ หรือ ไม่ชอบ‘ การแสดงผลของ Google เป็นเพียงผลลัพธ์สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภค กล่าวคือ มนุษย์เราเองนี่แหละที่ชอบ บทความยาว
บทความยาว มีเนื้อหาละเอียด ทำให้ผู้คนที่ต้องการเนื้อหาเชิงลึกและอ่านจบรู้สึกว่ามีประโยชน์และยินดีที่จะนำไปอ้างอิงต่อ ได้แก่การให้ Backlinks ลงในเว็บไซต์ เว็บบอร์ด และโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าการจัดอันดับการค้นหาของ Google นั้นนอกจากอาศัย Keywords แล้วยังจำเป็นต้องมี Backlinks ธรรมชาติด้วย – การเขียนบทความคุณภาพสูงจึงเป็น ความ(ไม่)ลับ ที่ทำให้บทความของคุณได้ Backlinks ธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจสร้าง Backlinks ด้วยตัวเอง
Take-Action! วิธีเขียนบทความยาว
ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจก่อนว่า ‘บทความยาว’ จริงๆคือการเขียนบทความคุณภาพที่มีเนื้อหาเชิงลึกที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านนำไปประยุกต์ปฏิบัติต่อไป มันจึงออกมายาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น! การเขียนบทความยาวจึงไม่ใช่การเขียนไปเรื่อยเปื่อยเพื่อให้ครบจำนวน 2,000 คำ
สำหรับคนที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ธุรกิจ, สินค้า, และบริการ ต้องการใช้ Section ที่เป็น Blog เพื่อเขียนบทความดีๆแก่ผู้อ่านต้องวางเป้าหมายของแต่ละบทความว่าจะให้อะไรแก่ผู้อ่าน
วางแผนหัวข้อหลักและรองให้เสร็จในกระดาษ
การวางแผนเขียนบทความดีๆ มีหลักปฏิบัติคล้ายการเขียนหนังสือสั้นๆหนึ่งเล่ม เริ่มจากตั้งชื่อเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ จากนั้นก็ลิสต์สารบัญเพื่อเป็นเข็มทิศให้คุณสามารถเริ่มต้นเขียนอย่างมีทิศทาง จากนั้นลิสต์หัวข้อย่อยๆที่คุณจะเล่าในแต่ละหัวข้อใหญ่ ให้มีการกำหนด สตอรี่ (Story) ของคุณหรือของแบรนด์เพื่อใช้เกริ่นเรื่องราวก่อนพาคนอ่านเข้าสู่บทความที่มีเนื้อหาเชิงลึก เมื่อได้โครงสร้างบทความทั้งหมดก็เริ่มเขียน
เคลียร์ตารางให้ว่างเพื่อโฟกัสที่การเขียนให้จบ
การเขียนเป็นงานที่ใช้สมาธิและเวลามาก ขอให้เซ็ทเวลาที่จะเขียนและลงมือเขียนอย่างแน่วแน่ ก่อนเริ่มต้นเขียนอาจจะรู้สึกท้อๆ แต่เมื่อลงมือเขียนสักพักจะสนุกจนวางไม่ลง และบทความขนาด 1,000-1,500 คำสามารถเขียนให้จบได้ภายใน 3-6 ชั่วโมง อาจฟังดูนาน แต่เชื่อเถอะว่าคุณจะสนุกจนลืมเวลาและได้บทความคุณภาพสูงเก็บเป็น Asset ของเว็บไซต์ครับ!