10 ข้อผิดพลาดที่นักธุรกิจต้องเลี่ยง ถ้าไม่อยากล้มเหลว

Startup เป็นธุรกิจกระแสแรงสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่มีคนล้มเหลวจำนวนนับไม่ถ้วนในแต่ละปี ประมาณคร่าวๆอยู่ที่ 75-90% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก คนในวงการอย่างเหล่าเมนเทอร์, ผู้ประกอบการต่อเนื่อง (serial entrepreneur) และผู้ที่ทำธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VCs) ต่างเห็นพ้องกันว่า นักธุรกิจ Startup ที่ล้มเหลวมักมีอยู่ข้อผิดพลาดอยู่ไม่กี่อย่าง

Tarek Kamil หนึ่งในผู้ประกอบการต่อเนื่องหรือ serial entrepreneur ที่มีธุรกิจภายใต้แบรนด์ของตัวเองทั้งหมด 5 กิจการ ซึ่งล่าสุดเป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ของ platform การสื่อสาร Cerkl (cerkl.com) ต้องรับฟังปัญหาเดิมๆของผู้ประกอบการอื่นอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง และพบว่าส่วนใหญ่หลงทางกับข้อผิดพลาดเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในความคิดเห็นของ Kamil หากนักธุรกิจหลีกเลี่ยงจุดอ่อนนี้ได้ จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว

ดังนั้น ผู้ที่ทำธุรกิจ Startup ทั้งที่กำลังดำเนินกิจการ กำลังวางแผนกิจการ หรือแม้แต่ผู้ที่จะล้มเลิกกิจการควรเรียนรู้10 ข้อผิดพลาดนี้ เพื่อระวังไม่ให้ธุรกิจต้องถึงจุดจบเร็วเกินไป ได้แก่

1. ขาดการเตรียมตัว

ไม่มีใครทำอะไรออกมาได้ดีโดยไม่ผ่านการฝึกฝนหรือเตรียมตัวมาก่อนหรอก คุณคงไปวิ่งมาราธอนโดยไม่ฝึกร่างกายไปก่อนไม่ได้ ยิ่งต้องทำการใหญ่ ยิ่งต้องวางแผนให้ดีและรอบคอบ การทำธุรกิจก็เช่นกัน คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมในทุกๆด้านของชีวิต ตั้งแต่วางแผนพักผ่อน ควบคุมอาหาร และหาแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง

คุณต้องมั่นใจว่าทุกอย่างจะสนับสนุนและเติมเต็มให้คุณ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และวิถีชีวิต รวมถึงกำลังใจจากคนสำคัญ สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนไม่จำเป็น แต่มันคือองค์ประกอบพื้นฐานของการเริ่มงานธุรกิจ หากคุณบกพร่องจุดนี้ มันจะกลายเป็นจุดอ่อนในชีวิต และจะเผยออกมาอย่างชัดเจนเวลาคุณทำธุรกิจ ซึ่งทำให้การทำงานของคุณไร้ประสิทธิภาพและล้มเหลว

Kamil จึงมีวิธืเตรียมตัวง่ายๆ แค่คอยเช็คให้มั่นใจว่าคุณพร้อมรับมือกับทุกด้านหรือยัง? เพราะแน่นอนว่าธุรกิจ startup จะมีผลกระทบต่อชีวิตคุณมาก โดยเฉพาะเรื่องคนรอบข้าง บางครั้งเพื่อนและครอบครัวอาจไม่เข้าใจและไม่สนับสนุนคุณ ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น Kamil แนะนำให้แก้ปัญหาโดยบอกไปตรงๆเลยว่าคุณมีเป้าหมายที่ต้องทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป้าหมายนั้นจะสำคัญกว่าเขา แม้จะดูเหมือนก็ตามที

2. สับสนระหว่างการขายสินค้าและการทำธุรกิจ

Eric Holtzclaw นักกลยุทธ์และผู้ประกอบการต่อเนื่องในแอตแลนตา บอกความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้ว่า การขายสินค้าจะตอบสนองความต้องการหลักของบุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง แต่การทำธุรกิจที่แท้จริงจะมีอะไรบางอย่างดึงดูดลูกค้าให้หวนกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า ธุรกิจจึงต้องการวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลเพื่อวางแผนในระยะยาว

เขาเผยว่า กุญแจความคาดหวังหลักของนักลงทุน คือ จะทำยังไงให้มีกระแสรายได้ที่มีศักยภาพเหนืออำนาจการซื้อสินค้าครั้งแรกของลูกค้า นักลงทุนเหล่านี้ชอบมองไปข้างหน้าว่าจะควรทำอะไรต่อไปในอนาคต และต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำจะมีช่วงอายุที่นานกว่าสิ่งที่เสนอขายอยู่ในปัจจุบัน การตั้งคำถามว่าหน้าตาธุรกิจคุณจะเป็นยังไงในอีก3-5ปีข้างหน้า เป็นประเด็นใหญ่ที่นักลงทุนมองกัน และจะเป็นตัวบอกได้เลยว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ใช่การทำธุรกิจจริงๆรึเปล่า คุณต้องสำรวจตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะการขายสินค้าและการทำธุรกิจย่อมให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน

3. ไม่ยอมจ่ายค่าผู้เชี่ยวชาญ

สิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้อยู่เสมอคือ คุณไม่ได้เก่งไปซะทุกอย่าง และคุณไม่มีทางเก่งทุกอย่างได้ นี่ไม่ใช่ประโยคดูถูกความสามารถ แต่เป็นประโยคเตือนด้วยความหวังดี เพราะธุรกิจทุกส่วนต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยิ่งเรื่องภาษีและกฎหมายที่มักได้เปรียบเสียเปรียบกันเป็นประจำ

Greg Rau ผู้ประกอบการต่อเนื่อง และหัวหน้าฝ่ายปฎิบัติการของ Rigado บริษัทวิศวกรรมฮาร์ดแวร์ในโอเรกอน มองว่าการวางโครงสร้างงานที่ผิดพลาดไม่ได้ส่งผลเสียต่อเรื่องงานบริหารองค์กรหรือตัวบริษัทเท่านั้น แต่ส่งผลถึงศักยภาพการลงทุนแบบผิดที่ผิดทางด้วย ถ้าคุณไม่ได้วางตำแหน่งงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านไว้ คุณอาจเสียเงินลงทุนด้านอื่นที่สำคัญน้อยกว่านี้ แต่ใช้เงินมากกว่าเดิม และอาจมีค่าเสียหายเพิ่มเติมตามหลังมาอีก

Rau เชื่อว่าผู้ประกอบการต้องการมุมมองธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างเวลาทำสัญญาการลงทุน หากคุณไม่สนใจเนื้อหาในสัญญา หรือขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง คุณจะเสียเปรียบได้ง่าย เช่น สิทธิในการได้รับเงินคืนก่อนหุ้นสามัญ ที่จะเป็นตัวชี้ชะตาขาดธุรกิจคุณได้เลยว่าจะสูญสิ้นหรือไม่

อย่า!!! เชื่อคำแนะนำออนไลน์หรือคิดว่าคุณจะจัดการได้ด้วยตัวคุณเอง ลองหาผู้เชี่ยวชาญสักคนที่รู้แน่ว่าคุณต้องทำอะไร จงอย่าเสียดายเงินเพื่อแลกกับความชัวร์ คุณต้องรู้จักลงทุนกับสิ่งจำเป็น เพราะถ้าหากพลาดแล้วคุณอาจล้มเหลวทันทีเลยก็ได้

4. มองข้ามความสำคัญของข้อมูล

ข้อมูลคือสิ่งจำเป็นต่อการทำงานทุกอย่างบนโลก คุณต้องหาข้อมูลมาพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของคุณ เพราะไม่มีใครเชื่อไอเดียลอยๆโดยปราศจากสิ่งยืนยัน คุณจึงต้องการสิ่งสนับสนุนความคิดของคุณว่าคือเรื่องจริง หรืออย่างน้อยก็หาตัวชี้วัดนำเพื่อยืนยันว่ามันเป็นไปได้ได้จริง และควรใช้ข้อมูลสร้างดัชนีชี้วัดผลงาน หรือ milestones เพื่อบอกว่างานคุณมีความเคลื่อนไหว

สื่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ Lisa Stone ผู้ร่วมก่อตั้ง BlogHer สังคมออนไลน์ใน San Francisco เธอเชื่อว่า“ความคิดแบบแฟนตาซีเกินจริงคือเพชรฆาตฆ่าธุรกิจ” เธอจึงให้ความสำคัญกับการกำหนดข้อมูลตัวเลขและทำแต่ละอย่างให้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง เธอจะไม่เห็นด้วยถ้าอยู่ๆคุณจะมาคิดว่าเดี๋ยวคุณก็ประสบความสำเร็จโดยไม่มีอะไรเลย

จากประสบการณ์ช่วงแรกในการทำ Blog ของ Stone เธอและหุ้นส่วนถูกเย้ยว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่มีทางทำ Blogขนาดใหญ่พอที่จะสนับสนุนการประชุมประจำปีได้ แต่ข้อมูลจากการประชุมการทดสอบเล็กครั้งแรกยืนยันได้ว่าแพลนงานของเธอจะไปได้สวย Stone และทีมงานผู้หญิง 300 คน ลบคำสบประมาทด้วยการขายอีเวนท์ต่างๆที่ถูกจัดขึ้นใน 4 เดือนหมด และสร้างรายได้สุทธิ 60000 เหรียญกลับคืนให้บริษัท

5. ปีนป่ายเร็วเกิน

คุณควรรู้ว่า 74% ของธุรกิจ startup ทางอินเตอร์เน็ตเติบโตสูงล้มเหลวเพราะการปีนป่ายแบบรวดเร็วเกินไป (จากรายงานสถิติของ Startup Genome) Erik Rannala ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้บริหารของ Mucker Capital ธุรกิจซอฟแวร์อินเตอร์เน็ต และบริการมีเดียใน ลอส แองเจลลิส มีความเห็นว่า เรื่องนี้เกิดได้ทั่วไป เพราะคนชอบหาเงินเพิ่มจำนวนมากๆ เพื่อให้รู้สึกมั่งคั่งด้วยเงินสดและนำใช้ในทางที่ผิด สุดท้ายกว่าจะคิดได้ว่าเงินที่ใช้ไปไม่ได้เป็นประโยชน์เลยสักนิด ก็สายไปแล้ว

แล้วเขาจ่ายไปกับอะไรกันล่ะ? คำตอบดูครอบคลุมมาก เหมือนจะอะไรก็ได้ ตั้งแต่ทุ่มเงินลงทุนกับการตลาดจนถึงจ้างพนักงานแบบรวดเร็ว ซึ่งการจ่ายมากๆแบบรวดเร็วเพื่อขยายธุรกิจอาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะมักเจอปัญหาพื้นฐานเดิมๆคือ ใช้เงินทุ่มเทผิดส่วนหรือขายธุรกิจผิดทาง

Rannala เสนอว่า เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มใช้จ่ายเงิน คุณต้องหาวิธีจัดการกับเงินเพิ่มหรือหาเงินเพิ่มขึ้นด้วย เพราะว่าถ้าคุณเงินหมดก่อนถึงจุด milestone คุณจะมีโอกาสหาเงินยากขึ้น จริงอยู่ที่การทำธุรกิจต้องเร็ว แต่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน คุณต้องวางแผนให้รอบคอบ ก่อนเงินจะหมดโดยไม่รู้ตัว

6. ยึดติดไอเดียผิดๆ

อย่าทำอะไรตามอารมณ์เด็ดขาด คุณต้องมีเหตุผลและหาหลักฐาน เลือกจะทำธุรกิจ ก็ต้องตีโจทย์ให้แตก ลองประเมินดูว่าคุณจะทำให้สินค้าลงล็อคกับตลาดได้ยังไง คุณอาจต้องทดลองเพื่อหายุทธวิธีหรือกลเม็ดสร้างสินค้าให้เตะตาลูกค้ามากที่สุด และค้นหาวิธีที่ดีที่สุดที่คุ้มค่ากับการลงทุน คุณจึงจำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ๆหลากหลายช่องทางเพื่อเปิดทางธุรกิจของคุณอยู่เสมอ

Rannala ยกตัวอย่างบริษัทที่ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ต ว่าบริษัทพวกนี้จะมี 5-6 วิธีที่ใช้ได้จริงในการสร้างฐานลูกค้า ภายใน 6-12 เดือน ถ้าคุณพยายามแล้วยังไม่มีวิธีไหนช่วยให้ธุรกิจคุณดีขึ้น แสดงว่าคุณมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับความคิด เพราะบางทีคุณอาจเข็นครกขึ้นภูเขาผิดลูก หรือวิ่งเข้าหากำแพงอิฐที่ไม่มีทางทะลุไปได้

ผู้ประกอบการที่เพิ่งเข้าตลาดครั้งแรกและคนที่ไม่คุ้นเคยตลาดจะประสบปัญหานี้บ่อย รวมถึงเป็นกลุ่มคนที่ติดกับความคิดเดิมๆและไม่จำว่าตัวเองผิดพลาดมามากเท่าไหร่แล้ว บางคนถึงขั้นไม่ยอมรับความผิดพลาด และยังเข้าข้างความคิดตัวเองเสมอ ทำให้ตกเป็นเหยื่อของความล้มเหลวได้ง่าย ถ้าคุณไม่รู้จักเปลี่ยนตั้งแต่ต้น เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เลวร้ายกว่าเดิมตอนปลายทางได้เลย

7. เลือกตัวแทนผิดคน

สัญชาตญาณการอยู่รอดเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เมื่อคุณรับภาระไม่ไหว คุณก็ต้องให้คนอื่นทำแทน เพราะหากไม่มีใครทำแทน คุณจะหลุดจากสภาวะนั้นไม่ได้ คุณจึงต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด แต่การเชื่อใจผิดคนเป็นปัญหาสุดคลาสสิคของการจัดการ ไม่มีใครทำแทนคุณได้ทุกอย่างครบถ้วน ยิ่งถ้าคุณเลือกมอบหมายงานให้ผิดคน ข้อผิดพลาดก็ยิ่งทวีคูณ ยังไงแล้วการทำทุกอย่างด้วยตัวคุณเองดีย่อมดีกว่าเสมอ ดีกว่าคุณล้มเลิกให้คนอื่นทำแทนแล้วสุดท้ายก็ล่มเหมือนเดิม

แต่ Holtzclaw บอกว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่ดีมักเป็นนักกลยุทธ์ เขาจึงไม่จำเป็นต้องกังวลกับรายละเอียดยิบย่อยว่าสำเร็จไปถึงไหนแล้ว เพราะเขาเลือกมอบหมายงานที่ดี และไว้ใจคนถูกคน หากคุณต้องปล่อยงานให้คนอื่นทำแทน คุณควรมีขั้นตอนการพิจารณาที่ถี่ถ้วนว่าเขามีศักยภาพมากพอที่จะควบคุมงานนั้นได้รึเปล่า เพราะหากเขาล้มเหลว นั่นหมายความว่า คุณก็ไม่มีศักยภาพมากพอในการบริหารงานเช่นกัน การเลือกมอบหมายงานจึงเป็นสิ่งสะท้อนความสามารถของคุณเอง คุณต้องตัดสินใจให้ดีว่าอยากให้งานของคุณพังเพราะมือคุณเองหรือมือคนอื่นล่ะ

8. เข้าใจว่าเงินแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

ผู้ประกอบการที่เป็นนักต่อสู้มักคิดว่าเขาสามารถหาเงินได้ใหม่เรื่อยๆ เมื่อมีเงินแล้วปัญหาทุกอย่างจะหายไป แต่เป็นความคิดที่ผิดสิ้นเชิง เพราะเงินไม่ได้มีหน้าที่แบบนั้น คุณอย่าลืมว่าธุรกิจไหนๆก็หาเงินได้เหมือนกัน ต่างกันที่แนวคิดและความสามารถส่วนบุคคลของผู้บริหารและตัวผู้ดำเนินงานมากกว่า คุณจึงไม่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาความสามารถในการวางแผนและการบริหารงานได้ หากคุณใช้เงินไปซะทุกอย่าง กำไรจะงอกเงยช้าลง ขาดทุนง่ายขึ้น และไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานใดๆ เป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าการแก้ปัญหาซะอีก

Carter Cast อาจารย์ด้านการประกอบการและนวัตกรรมที่โรงเรียนการจัดการ Kellogg และหุ้นส่วนธุรกิจเงินร่วมลงทุนของ Pritzker Group Venture Capital ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินแก้ปัญหา เขาบอกว่าเงินไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานกับแบบจำลองทางธุรกิจได้ คุณต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แล้วค่อยใช้เงินสนับสนุน แค่นี้คุณก็แก้ปัญหาชวนปวดหัวได้ทุกเรื่องแล้ว

9. ประเมินระยะการขายต่ำไป

หยุดคิดเลยว่าต้องขายให้ได้รวดเร็วดั่งใจ เพราะการขายต้องใช้เวลา หลายบริษัททำงานเหมือนกับจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ภายใน 3-6 เดือน ซึ่งความจริง การจัดการแบบนั้นต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี แล้วถ้าแผนธุรกิจของคุณไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้ ปัญหาใหญ่จะตามมา คุณจึงควรเผื่อเวลาสำหรับการขายไว้ระดับหนึ่ง

Cast อธิบายว่า เมื่อ Sale ต้องเสนอขายให้ตำแหน่ง C-suite หรือกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ต้องผ่านหลายขั้นตอน กว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าเสนอขาย และต้องเจอกับการคัดกรองพิจารณา การค้นหาวิธี และกระบวนการดำเนินงานต่างๆ เธอสังเกตหลายบริษัทที่เงินขาด เป็นเพราะประมาณการณ์สุดขีดเมื่อเทียบกับ Timeline ของบริษัท ดังนั้น คุณต้องประเมินระยะการขายให้เหมาะสมกับ Timeline ที่มีอยู่ และควรยืดหยุ่นได้หากไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

10. กลัวล้มเหลว

ประโยค Cliché ให้กำลังใจคนที่ธุรกิจว่า “ยิ่งล้มเร็ว ยิ่งประสบความสำเร็จเร็ว” ยังคงใช้ได้เสมอ แต่ Kamil ไม่ใช่ชอบประโยคนี้เท่าไหร่นัก ไม่ว่านักลงทุนจะสรรเสริญผิดพลาดของตนเองยังไง ‘ล้มเหลว’ ก็ยังเป็นคำที่น่ากลัว เพราะไม่มีใครอยากอยู่สภาวะตรงข้ามกับความสำเร็จ แต่ความจริงเรามักเข้าใจผิด ว่าการล้มเหลว คือ ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งไม่ถูกซะทีเดียว เพราะทุกความล้มเหลวมีคุณค่าเสมอ

คุณต้องเปลี่ยนความเชื่อ คุณไม่ได้ล้มเหลว คุณแค่กำลังเรียนรู้ คุณเพียงทดลองเพื่อปรับปรุงธุรกิจต่อไปให้ดีขึ้น แม้ว่าแต่ละครั้งจะเจ็บปวดบ้างเล็กน้อย แต่คุณจะได้เรียนรู้บางอย่างที่สามารถใช้เป็นบทเรียนเพื่อก้าวไปข้างหน้าและทำให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม อย่ากลัวล้มเหลว แต่ให้กลัวการไม่ได้เรียนรู้มากกว่า

ดังนั้น 10 ข้อผิดพลาดสำหรับธรุกิจ start up นี้จึงเป็น 10 ก้าวบันไดแห่งการเรียนรู้เพื่อการเติบโตเช่นกัน จงเป็นนักธุรกิจที่มีคุณภาพ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส แต่อย่าให้พลาดเรื่องเดิมๆ


และหากคุณชอบใน Content ที่ทาง CEO Blog ได้นำเสนอ ในเร็ว ๆ นี้ ทาง CEO Blog ของเรานั้น กำลังจะมีโปรเจค CEO Premium Content ซึ่งเป็น Content ด้านการค้าปลีกออนไลน์ แบบพรีเมี่ยม ที่หาอ่านไม่ได้บน Blog ปกติของ CEO Blog โดยจะเปิดรับสมัครสมาชิกพรีเมี่ยมในเร็ว ๆ นี้

หากคุณไม่อยากพลาด Content ระดับ Premium สามารถลงทะเบียนเพื่อรับแจ้งข่าวสารได้ที่นี่ก่อนใครเลยครับ รับรองได้เลยว่ามันเป็น Content ระดับพรีเมี่ยมในราคาที่คุ้มสุด ๆ อย่างแน่นอน >>> ลงทะเบียนรับข่าวสารที่นี่ก่อนใครceo premium content