สงครามการค้าทำพิษ ผู้ประกอบการโรงงานไทยอ่วม ส่อเค้าเลิกจ้างแรงงานต่อเนื่อง

1909017

นาย เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการติดตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ของ ส.อ.ท. เผยว่า ผู้ประกอบการหลายรายในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ระยอง และโดยเฉพาะผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปจีน เพื่อนำไปประกอบแล้วส่งต่อให้สหรัฐ กำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จีน-สหรัฐ ทำให้คำสั่งซื้อลดลง และผสมโรงกับค่าเงินบาทไทยแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ศักยภาพการแข่งขันยิ่งถดถอย

การปรับตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจะเริ่มจาก ‘เบาไปหนัก’ อาทิ เริ่มจากลดค่าทำงานล่วงเวลา, ลดชั่วโมงการทำงานลง, ลดแรงงานกลุ่มทดลองงาน, หากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะเปิดรับสมัครใหม่ แต่ในจำนวนที่น้อยลง แต่หากสถานกาณ์เลวร้ายที่สุด คือ ผู้ประกอบการอาจต้องปิดโรงงานบางแห่ง หรือปิดสาขาที่ไม่จำเป็น ไปจนถึงปิดทั้งกิจการ

ส่วนแนวทางแก้ไขของภาครัฐ นาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางลดผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ โดยล่าสุดทาง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหากรณีการปลดแรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบอันดับต้น ๆ

สศอ. มีโครงการที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยเคยมีศักยภาพ มีแรงงานและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก แต่ต้องได้รับการพัฒนาและยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2573 มีมาตรการย่อยต่างๆ อาทิ การสร้างนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ การยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ

ขณะเดียวกัน จะใช้โอกาสจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ทำให้หลายประเทศที่ลงทุนอยู่ในจีนและสหรัฐ ต้องการย้ายฐานการลงทุน ดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยจะเร่งเดินสายพบปะนักลงทุนต่างชาติ ดึงดูดการลงทุนใหม่ ทั้งยังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างกรอบแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุนต่าง ๆ รองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติด้วย