ผลวิจัยแนวหน้าฟันธงแล้ว! พนักงานทำงานที่บ้าน มีประสิทธิภาพสูงกว่าทำที่ออฟฟิศขาดลอย

ทั่วโลกคุ้นเคยกับการทำงานที่ต้อง ‘ตื่นเช้าเข้าออฟฟิศ’ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง หยุดเสาร์อาทิตย์ มาหลายทศวรรษ แต่เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว รูปแบบการทำงานแบบเดิมยังให้ผลลัพธ์สูงที่สุดในปัจจุบันหรือไม่?

ย้อนไปสมัยยุครุ่งเรืองของ Industrial revolution เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1760 – 1840 โมเดลธุรกิจหลักของโลก คือ โรงงานอุตสาหกรรม ที่จำเป็นต้องให้พนักงานมาประจำสายการผลิตและทำงานแบบ ‘หุ่นยนต์’ มีกำหนดเวลาและตารางงานที่ตายตัว แต่วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และโมเดลธุรกิจสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนโลกของเราได้ย้ายไปอยู่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี และธุรกิจดิจิทัล

และดูเหมือนหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีบางองค์กรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน อาทิ แบรนด์ Tower Paddle Boards ให้พนักงาน ทำงานวันละ 5 ชั่วโมง ในขณะที่ Microsoft ญี่ปุ่น ให้เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 4 วัน สลับกับการทำงานจากที่บ้าน และพบว่าพนักงานเหล่านั้นสร้างผลผลิตสูงขึ้น เช่น ยอดขายสูงขึ้น และ บริการลูกค้าเกินจำนวนเป้าที่ตั้งไว้

ล่าสุดเว็บไซต์ Inc.com ได้รวบรวมงานวิจัยจากสถาบันชั้นนำพบผลลัพธ์ตรงกันว่า พนักงานประจำที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านล้วนสร้างผลผลิตกลับมาให้บริษัทถ้วนหน้า โดยแบ่งเป็น 4 หมวดดังนี้



หมวดที่ 1 Productivity ประสิทธิภาพ และความรักในงานเพิ่มสูงขึ้น

เว็บไซต์ Harvard Business Review และ Gallup ได้รายงานไว้ในบทความของพวกเขาเกี่ยวกับกรณีศึกษาของ Ctrip ธุรกิจเว็บไซต์จองเที่ยวบินและที่พักรายใหญ่ของจีน แบ่งพนักงาน Call center ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ทำงานที่ออฟฟิศปกติ และกลุ่มที่ 2 ให้ทำงานจากที่บ้านจำนวน 3 – 4 วันต่อสัปดาห์

ผลลัพธ์พบว่า กลุ่มที่ทำงานจากที่บ้านสามารถโทรหาลูกค้าได้มากกว่ากลุ่มที่ทำงานออฟฟิศถึง 13.5% หรือ เทียบเท่ากับทำงานมากกว่าคนที่เข้าออฟฟิศเกินมา 1 วันต่อสัปดาห์

ทางด้าน Gallup เสริมว่า พนักงานที่ทำงานจากที่บ้านมีใจรักในงานมากว่า โดยมีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน อยากเข้าหาลูกค้า เข้าหาผู้บังคับบัญชา และมีส่วนร่วมกับการสื่อสารในการทำงานสูงขึ้น 33%

หมวดที่ 2 Recruitment คนลาออกน้อยลง และคนใหม่อยากร่วมงานมากขึ้น

กระบวนการสรรหาว่าจ้างพนักงานใหม่เป็นงานที่มี ‘ต้นทุนสูง’ กว่าที่เจ้าของกิจการจะมองเห็นด้วยตาเปล่า — เว็บไซต์ PeopleKeep.com ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ ผลตอบแทน ให้บุคคลากรขององค์กรกล่าว่า ‘ต้นทุน’ ในการสรรหาว่าจ้างพนักงานใหม่ มีมูลค่า Opportunity cost เทียบเท่า ‘ค่าจ้างทั้งปี’ ของพนักงานอัตรานั้น

กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาในการเรียนรู้งานโดยที่พนักงานยังไม่สร้างผลประโยชน์กลับสู่บริษัทให้เท่ากับคนเก่า, การต้องส่งไปฝึกอบรมเรื่องต่าง ๆ ใหม่ทั้งหมด, การจัดการผลประโยชน์ตามกฏหมาย, การปรับตัวเข้ากับองค์กร ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็น Opportunity cost ที่มองไม่เห็นทั้งสิ้น

แต่จากกรณีศึกษา Ctrip แบ่งกลุ่มพนักงานแบบ ‘เข้าออฟฟิศ VS ทำงานที่บ้าน’ พบว่าพนักงานที่ทำงานที่บ้านมีความสุขและอัตราการลาออกลดลงถึง 50% ในขณะที่ University of Akron เผยว่า คนรุ่นใหม่ 41% สะดวกใจที่จะสม้ครและสัมภาษณ์งานผ่าน โทรศัพท์ และ อีเมล์ โดยยังไม่ต้องเจอตัว

หมวดที่ 3 Employee benefit ต้นทุนด้านผลตอบแทนพนักงานลดลง

คงไม่มีผู้ประกอบการคนใดปฏิเสธว่า ‘ค่าใช้จ่ายพนักงาน’ เป็นค่าใช้จ่ายที่หนักที่สุดของบริษัท ค่าใช้จ่ายพนักงานในที่นี้ไม่ได้มีแค่ เงินเดือน แต่ยังรวมไปถึง สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งตามกฏหมาย และเพื่อการแข่งขันกันระหว่างบริษัทเพื่อรักษาพนักงาน อาทิ ประกันสังคม ประกันชีวิตกลุ่ม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ท่องเที่ยวบริษัท วันหยุดประจำปี ฯลฯ

เว็บไซต์ smallbusiness.chron.com อ้างถึงรายงานจาก กรมแรงงานสหรัฐฯ พบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายพนักงานอาจสูงถึง 20 – 30% ของรายได้ขั้นต้นของบริษัท (รายได้ทียังไม่หักต้นทุนสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่น)

ในขณะที่งานวิจัยจาก สมาคมเศรษฐกิจสหรัฐ (American Economic Association) พบว่า พนักงานยินดีที่จะลดเงินเดือนตัวเองลง 8% เพื่อแลกกับการได้ทำงานที่บ้าน ซึ่งตรงกับ รายงานจาก ศาสตรจารย์ Alexandre Mas และ ศาสตราจารย์ Amanda Pallais สองผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ แห่ง มหาวิทยาลัย Princeton และ Havard กล่าวไว้ที่ตัวเลข 8% เช่นกัน

นอกจากพนักงานจะยินดีลดเงินเดือนลงแล้ว การทำงานจากที่บ้านยังลดอัตราการเจ็บป่วยของพนักงานได้อย่างคาดไม่ถึง กรมแรงงานสหรัฐฯ พบว่า พนักงานลาป่วยประมาณ ‘2.8 ล้านวันทำการ’ ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเสียโอกาสสำหรับบางบริษัทจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ ต่อบริษัท ต่อวัน!

การทำงานที่บ้านช่วยให้พนักงานไม่ต้องประสบกับสภาพอากาศที่เป็นพิษในระหว่างการเดินทาง และไม่ประสบกับเชื้อโรคในที่ทำให้ ทำให้สุขภาพดี และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น

หมวดที่ 4 Cost saving ค่าใช้จ่ายบริษัทลดลง

ต้นทุน Fixed-cost ใหญ่ ๆ ของเจ้าของกิจการ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงาน และ ค่าเช่าสำนักงาน ยิ่งพนักงานมาก พื้นที่สำนักงานยิ่งต้องใหญ่ และค่าเช่าสำนักงานซึ่งเป็น Fixed-cost ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และผลพลอยได้จากการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ไม่เพียงลดต้นทุนค่าสำนักงาน แต่ลดต้นทุนระบบสาธารณูปโภค และอุปกรณ์สำนักงานทั้งหมด เพราะทุกอย่างจะย้ายไปอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงาน ซึ่งพวกเขาก็ยินดีที่จะดูแลตัวเองเพื่อแลกกับการทำงานจากที่บ้าน

กรณีศึกษาบริษัท Automattic ผู้พัฒนาโปรแกรม WordPress ปิดตัวสำนักงาน ขนาด 15,000 ตารางฟุตลงในปี 2017 เนื่องจาก พนักงานส่วนใหญ่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ และออฟฟิศก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ปัจจุบัน Auttomattic มีพนักงานกว่า 900 คน ทำงานอยู่ตามมุมเมืองต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีสำนักงาน ส่งผลให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายมหาศาลจากการไม่ต้องเช่าอาคารสำนักงาน



ข้อมูลอ้างอิง

Https: //www.inc.com/geoffrey-james/case-closed-work-from-home-is-worlds-smartest-management-strategy.html

Https: //hbr.org/2014/01/to-raise-productivity-let-more-employees-work-from-home

Https: //news.gallup.com/businessjournal/207539/employees-home-less-engaged.aspx

Http: //ideaexchange.uakron.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1581&context=honors_research_projects

Https: //www.researchgate.net/publication/301796227_Absenteeism_Problems_And_Costs_Causes_Effects_And_Cures

Https: //www.aeaweb.org/articles?id=10.1257/aer.20161500

Https: //www.bbc.com/news/business-48879976

Https: //www.peoplekeep.com/blog/bid/312123/employee-retention-the-real-cost-of-losing-an-employee