บล็อกเกอร์ต่างจากนักเขียนอย่างไร

Blogger Logoทุกวันนี้ถ้าถามคนในที่ทำงานว่าใครมีเฟซบุ๊ก กว่า 90% ต้องยกมือตอบว่ามี แม้แต่คุณน้าคุณอาหรือคุณย่าที่บ้านยังมีเฟซบุ๊กกันเลย แต่ถ้าถามที่ทำงานว่าใครมีบล็อกนี่ยกกันไม่ถึงครึ่ง แม้ปัจจุบันบล็อกจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และในไซเบอร์สเปซตอนนี้มีบล็อกเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบล็อกแล้วก็ตาม แต่สัดส่วนก็ยังน้อยกว่าคนมีเฟซบุ๊กพอสมควร เหตุผลหนึ่งคือคนเชื่อว่าบล็อกเกอร์ต้องเป็นนักเขียน และเขาคิดว่าตัวเขาไม่ใช่นักเขียนหรือไม่ชอบเขียน

ส่วนตัวผมก็ไม่ชอบเขียน และผมไม่ใช่นักเขียนมาแต่ไหนแต่ไร ….แต่ทำไมผมจึงมาเขียนบล็อกได้? เหตุผลเพราะผมชอบแชร์ความรู้ และไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่เป็นแบบนี้ มนุษย์แทบทุกคนชอบที่จะแชร์ความรู้ให้คนอื่นฟังทั้งสิ้นครับ

การแสดงความรู้เป็นพฤติกรรมทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์เพื่อสร้างพื้นที่ในกลุ่มและในสังคม คนที่มีความรู้มักชอบถ่ายทอดสิ่งที่รู้เพื่อช่วยผู้อื่นและได้รับการชื่นชมยินดีกลับมา เป็นการเพิ่มคุณค่าระหว่างกัน นี่คือระดับพื้นฐาน ส่วนในระดับแอดวานซ์ การแสดงความรู้เป็นการเผยถึงศักยภาพหรือ profession ซึ่งต่อยอดไปสู่การว่าจ้าง ร่วมทำงาน ค้าขายความรู้แลกเปลี่ยนเป็นเงิน ซึ่งในปัจจุบันการแสดงความรู้ไม่ว่าจะเพื่อการสร้างตัวตนในสังคมหรือเพื่อการทำงานทำเงินถูกนำมาแสดงผ่านเว็บบล็อกในรูปแบบของการเขียนที่เรียกว่า blog contents

ตรงนี้มีความแตกต่างจากนักเขียนตรงที่นักเขียนอาจมีจินตนาการสูงกว่าบล็อกเกอร์ อย่างตัวผมเองจะให้สร้างนิยายสักเรื่องผมก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะเขียนยังไง หัวมันไม่แล่นไปทางนั้นจริงๆ แต่ถ้าเป็นการเขียนบทความ ตลอดสามปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เขียนในกระทู้เว็บบอร์ดจนมาสู่บล็อกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 700 บทความ คนที่ไม่ใช่นักเขียนคงเขียนแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ แต่…ผมก็ยืนยันว่าผมไม่ใช่นักเขียน!

บล็อกเกอร์เขียนเยอะแต่บอกว่าตัวเองไม่ใช่นักเขียน?

บล็อกเกอร์สร้างบล็อกขึ้นมาด้วยแรงขับสองอย่าง อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างได้แก่ passion (ความหลงใหล) กับ interest (ความสนใจ) ใน subject (ประเด็น) เฉพาะทาง บล็อกเกอร์อาจมีความหลงใหลหนึ่งสาขาอย่างสุดซึ้ง แต่มีความสนใจในศาสตร์อื่นอีก 2-3 สาขา เขาก็อาจมี 3-4 บล็อก หรือบางคนอาจมีบล็อกเดียวแล้วเขียนสลับสาขากันไป

Passion และ Interest คือแรงขับที่ทำให้คนต้องการจะนำความคิด ความรู้ และประสบการณ์ของตัวเองมาแชร์เป็นตัวอักษรผ่านช่องทางการสื่อสารซึ่งในที่นี้คือ บล็อก นั่นเอง และการเป็นบล็อกเกอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนปากกาคมแต่ต้องเป็นคนที่มีความรู้ในสาขาที่จะนำมาแชร์

ถ้าคุณมีความรู้ที่อยากจะบอกต่อ คุณก็บล็อกได้เลย

ถึงจุดนี้คุณไม่ต้องเป็นห่วงว่าตัวเองไม่ใช่นักเขียนแล้วจะบล็อกไม่ได้ บล็อกเกอร์และนักเขียนมีส่วนที่เหมือนกันในรูปแบบของการปฏิบัติ คือ การเขียน และ ผลลัพธ์ คือ ตัวหนังสือ แต่สิ่งที่ บล็อกเกอร์แตกต่างจากนักเขียน คือ passion and purpose ในสิ่งที่ทำ นักเขียนมีจินตนาการ อารมณ์ และความบันเทิงเพื่อสร้างสรรค์และระบายสีให้โลกนี้ ในขณะที่บล็อกเกอร์มีแรงขับ มี motivation ที่จะแชร์ความองค์รู้เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในโลกนี้

ความรู้คือปัจจัยสำคัญของบล็อกเกอร์ โดยเฉพาะการบล็อกแบบ niche site คนที่รู้ในสาขานั้นๆเท่านั้นจึงจะเขียนออกมาได้ ถ้าไม่รู้ก็เขียนไม่ได้ นักเขียนนิยายก็เขียนเรื่องวิธีตรวจสอบเครื่องยนต์รถไม่ได้เพราะเขาไม่มีความรู้ นักเขียนิยายขายดีอันดับหนึ่งจะมาบล็อกเรื่องวิธีตัดเล็บแมวที่ถูกต้องไม่ได้เพราะเขาไม่มีความรู้ เหล่านี้เป็นการทำความเข้าใจง่ายๆว่าคุณก็บล็อกได้ถ้าคุณมีความรู้เฉพาะทางหรือ niche ของตัวเองอยู่แล้ว