กรณีศึกษา 3 วัยรุ่นเอเชีย ถอดไอเดีย IG และ Ebay มายำเป็นแอพฯ ใหม่ จนมีมูลค่ามากกว่า ‘หมื่นล้านบาท’

เรื่องราวของ 3 หนุ่มชาวเอเชียนี้อาจช่วยให้คุณเข้าใจว่า บางครั้งคำว่า ‘นวัตกรรม’ ไม่จำเป็นต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์เอี่ยมที่โลกไม่เคยมีมาก่อนเสมอไป แต่อาจนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาหาจุดบกพร่องและพัฒนาเป็น ผลิตภัณฑ์ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ‘ใน Niche หนึ่ง ๆ’ ภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมายของคุณอีกทีหนึ่ง

3 หนุ่มชาวสิงคโปร์มีนามว่า Siu Rui Quek, Marcus Tan และ Lucas Ngoo ปัจจุบันอายุ 25 – 26 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Carousell แอพพลิเคชันขายของออนไลน์ประเภทใหม่ของโลก ที่เพิ่งจะปิดดีลลงทุนล่าสุดกับ OLX Group หนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้มูลค่ากิจการของพวกเขาพุ่งสู่ 550 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 16,500 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาห์) โดยเหลืออีกเพียงครึ่งทางพวกเขาก็จะกลายเป็น Startup Unicorn ตัวที่ 11 แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Startup Unicorn กิจการเอกชนมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ)

จุดเริ่มต้น

เรื่องราวของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นสมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Silicon Valley ในปี ค.ศ. 2012 โดยทั้ง 3 มีไอดอล ได้แก่ Mark Zuckerberg (Facebook), Jack Dorsey (Twitter), และ Drew Houston (Dropbox) – ในตอนนั้นทั้ง 3 มีกิจกรรมเหมือนวัยรุ่นทั่วไป คือ หลงใหลการช็อปปิ้งออนไลน์ ติดไอโฟน และมีข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ได้ใช้เต็มห้องพัก

เมื่อพวกเขาพยายามที่จะนำของใช้ไปขายมือสองบนออนไลน์ พวกเขาพบว่ามันยุ่งยากและเสียเวลา ไม่ทันใจวัยรุ่นเอามาก ๆ ทั้ง 3 จึงเกิดไอเดียสร้างแอพพลิเคชันขายของออนไลน์ในอุดมคติของตัวเองขึ้นมา และหลังจากกลับมาที่ สิงคโปร์ พวกเขานำโปรโตไทป์มาพัฒนาต่ออย่างจริงจังโดยเริ่มจากหมวดสินค้าอิเลคทรอนิกส์

จุดกำเนิด Carousell แอพพลิเคชันขายของเพื่อคนเอเชีย

Siu Rui Quek ให้สัมภาษณ์ตอ CNBC ว่า ไอเดียของแอพพลิเคชัน Carousell มีแรงบันดาลใจมาจาก Instagram ที่พวกเขาชื่นชอบ และ Ebay ที่พวกเขาเคยใช้ขายของมือสองที่อเมริกา (และรู้สึกไม่สะดวก) นำจุดเด่นของทั้งสองมาผสมกัน แต่ปรับประยุกต์ให้เข้ากับพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของคนเอเชียซึ่งอยู่กับสมาร์ทโฟนมากกว่าโน้ตบุ๊ค และกลายมาเป็นแอพพลิเคชัน Carousell ซึ่งมีกิมมิกว่า

Snap to sell, chat to buy, something very social’ หรือ ‘แชะเพื่อขาย แชทเพื่อซื้อ สื่อสารถึงกันตลอดเวลาแบบโซเชียล’

Quek กล่าวต่อว่า พวกเขานำเทคโนโลยี AI, Machine Learning และ Algorithm มาใช้ในแพลทฟอร์ม โดยหนึ่งในนั้น คือ เทคโนโลยีการจดจำรูปภาพแบบที่ Facebook ใช้อยู่ เพื่อช่วยให้การ Listing สินค้าเร็วกว่าการ Listing บน Ebay ถึง 10 เท่าตัว ระบบจะทำการ แนะนำ หมวดหมู่สินค้า, ไอเดียตั้งชื่อและคีย์เวิร์ด, ราคาตลาดที่ซื้อขายกันในแพลทฟอร์ม ฯลฯ

ผู้ขายจะสามารถ Listing สินค้าและพร้อมขายได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีจากปกติอาจต้องใช้เวลาหลายนาทีหากขายใน Marketplace แบบดั้งเดิม อาทิ Ebay และ Amazon เป็นต้น

ปฏิเสธเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ก่อนกิจการทะยานสู่มูลค่า 550 ล้านดอลลาร์

แอพพลิเคชัน Carousell เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน สิงหาคม 2012 และขึ้นเป็น Lifestyle app. อันดับ 2 ของสิงคโปร์ภายในไม่กี่วัน

ผู้ร่วมก่อตั้งได้รับเงินลงทุนจากมหาวิทยาลัยจำนวน 35,000 ดอลลาห์ในการก่อตั้งกิจการ และได้รับเงินลงทุนอีก 150 ล้านดอลลาห์ จากนักลงทุนรายใหญ่ อาทิ Rakuten, Golden Gate Ventures and 500 Startups และเคยถูกเสนอขอซื้อกิจการจากนักลงทุนรายหนึ่งในราคา 100 ล้านดอลลาห์ แต่กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งปฏิเสธเพราะพวกเขามองว่า อนาคตของ Carousell ยังต้องไปอีกไกล บวกพวกเขามีความรักในการทำงานมาก

ส่วนดีลการลงทุนล่าสุด คือ OLX Group หนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งอีคอมเมิร์ซ มูลค่า 56 ล้านดอลลาร์ และมูลค่ากิจการ Carousell ทะยานสู่ 550 ล้านดอลลาร์ เหลืออีกเพียงครึ่งทางพวกเขาก็จะกลายเป็น Startup Unicorn ตัวที่ 11 แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันนี้ของ Carousell

Carousell มีให้บริการใน 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนิเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปินส์ และไต้หวัน มีสินค้า 250 ล้านลิสต์ และในอนาคตจะมีบริการเสริม อาทิ ระบบโฆษณา ระบบสมาชิกพรีเมียม ฯลฯ

Quek บอกว่า ถึงแม้จะทำงานนี้มา 7 ปี แต่พวกเขารู้สึกว่ายังภารกิจของพวกเขานั้นสำเร็จไปเพียง 1% เท่านั้น โดยเป้าหมายในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า Carousell จะต้องเป็นแอพฯ โซเชียล-อีคอมเมิร์ซ สินค้ามือสองแนวหน้าของโลก

“โมเดลธุรกิจนี้ช่วยให้คุณช่วยโลก, คุณประหยัดเงิน, คุณมีรายได้, และคุณสร้างโอกาสให้คนอื่น นี่คือเกมส์ที่ทุกคน Win-Win” –— Quek กล่าว