วิธีเอาชนะปัญหาถูกลดการมองเห็นแฟนเพจ โดยคุณไม่ต้องเริ่มจาก 0 กับช่องทางอื่นที่ไม่ถนัด

ปลายเดือน มิถุนายน 2016 มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook โซเชียลเน็ตเวิร์คอันดับหนึ่งของโลกประกาศอย่างเป็นทางการถึงการปรับ Facebook algorithm หรือการจัดอันดับการแสดงผลบน Facebook newsfeed ว่าจะเพิ่มความสำคัญของข่าวสารจากเพื่อนและญาติ และจะลดความสำคัญของ Business page หรือที่เรารู้จักกันในนาม Fan page (แฟนเพจ) การปรับลดในครั้งนี้มีโอกาสทำให้ Reach หรืออัตราการเข้าถึงของแฟนเพจใหม่ ๆ อาจตกลงไปอยู่ที่ 0% หรือต่ำกว่า (ซึ่งจากปีก่อน ๆ อัตราการ Reach ของเพจใหม่ก็ต่ำเตี้ยแค่ 1% อยู่เดิมแล้ว)

การปรับ Facebook algorithm ในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้แต่เพจ CEOblog และ Leader Wings ของผมซึ่งมี Engagement หรือ การ Like, Comment, Share เป็นอย่างดีมาโดยตลอดก็ได้รับผลกระทบจนรู้สึกได้ รวมไปถึงการยิงโฆษณา Facebook ก็รู้สึกว่าต้องใช้งบต่อวันสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนเพื่อจะเข้าถึงคนให้พอ ๆ กัน — บทความอ้างอิงเต็ม ๆ จาก CEOblog ที่นี่ครับ

เหตุการณ์นี้สร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของแฟนเพจจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเว็บไซต์ หรือช่องทางอื่นของตนเอง อาศัย แฟนเพจ ขายของแต่เพียงอย่างเดียวรวมไปถึงคนที่ไม่มีแบรนด์สินค้า ต้องซื้อมาขายไปในอัตรากำไรที่ค่อนข้างต่ำก็ได้รับความเสียหายเป็นอันมาก

ผม ในฐานะ SMEs คนหนึ่งที่อยู่ได้ด้วยกำไรจากยอดขายสินค้าในแต่ละเดือน และใช้การตลาดออนไลน์ในการทำธุรกิจมาโดยตลอดจึงได้นำประสบการณ์ในการเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงที่ตกผลึกบางส่วนมาแบ่งปันเป็น How-to ให้เพื่อนนักธุรกิจลองนำไปประยุกต์ใช้กันครับ

ทำไม Facebook ลด Reach?

สมัย Facebook เพิ่งก่อตั้ง

สมัย Facebook ก่อตั้งใหม่ ๆ จำนวนผู้ใช้หรือ User งานยังน้อย จำนวนผู้ลงโฆษณาหรือ Advertiser ยังไม่มี ใครโพสต์อะไรไปก็เห็นกันแทบทุกโพสต์ ต่อมาเมื่อผู้ใช้งานมากขึ้นจึงเริ่มดึงดูดผู้ลงโฆษณาเข้ามา จำนวนการเห็นโพสต์ต่าง ๆ ก็เริ่มเยอะขึ้น ทั้งโพสต์ของเพื่อนและโพสต์โฆษณา แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการยอมรับจำนวนโพสต์ได้เพียงระดับหนึ่ง หากมากกว่านั้นก็จะรำคาญและไม่อยากกลับมายัง Facebook อีก

คนใช้งานเยอะขึ้น News Feed ก็รกขึ้น

สิ่งที่ Facebook พยายามทำเสมอมาคือการ Personalize newsfeed ของผู้ใช้งานแต่ละคนให้ตรงตามความชอบ วัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดคนกลับเข้ามายัง Facebook และอยู่บนแพลทฟอร์มของเขานาน ๆ ดังนั้น Facebook จึงมี Algorithm ในการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานแต่ละคนอย่างละเอียดเพื่อคำนวณและป้อนข้อมูลที่เขาน่าจะอยากเห็นไปยัง Newsfeed ของคน ๆ นั้น

การเก็บข้อมูลส่วนนี้คำนวณจากกิจกรรมของผู้ใช้งานที่ Take action อาทิ…

  • เลื่อนหน้าจอแล้วหยุดที่โพสต์ใด ๆ
  • คลิ๊กอ่านต่อ คลิ๊กที่รูป หรือคลิ๊กขยายหน้าจอวีดีโอเป็น Full screen
  • คลิ๊กลิงค์บนเว็บไซต์
  • คลิ๊กเข้าไปยังหน้าโปรไฟล์ของเพื่อน หรือของแฟนเพจ
  • กด Like, Share, Comment หรือไม่
  • คลิ๊ก Unfollow หรือ Hide Post
  • คลิ๊ก Report post/ profile/ page
  • ฯลฯ อีกมากมาย

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้กลายมาเป็นข้อมูลสำคัญที่ Facebook ใช้ในการทำ Personalization ให้เหมาะสำหรับแต่ละคน รวมไปถึงการพัฒนาการจัดอันดับความสำคัญในการแสดงผลป้อนไปยัง Newsfeed ต่าง ๆ และประเด็นสำคัญคือ ณ ปี 2016 เป็นต้นไป Facebook แนวโน้มลดอัตราการเข้าถึง หรือ Reach ของแฟนเพจต่าง ๆ ที่จากเดิมเริ่มต้นที่ 1% บัดนี้อาจลงไปแตะที่ 0% — สาเหตุเพราะสถิติและการสำรวจผู้ใช้งานบอกว่า เขาไม่ชอบโฆษณา!

จะเกิดอะไรขึ้นหาก Facebook ไม่ทำเช่นนี้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Facebook newsfeed จะล้นไปด้วยโฆษณาจำนวนมหาศาล และสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ใช้งานจนในที่สุดพวกเขาจะพากันเลิกเล่น Facebook!

การลด Reach ก่อให้เกิดสองสิ่งในฝั่งของเจ้าของแฟนเพจ ข้อแรกคือ แฟนเพจต้องแข่งขันกันสร้าง Value content หรือ เนื้อหาที่มีประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายมากพอที่เขาจะเข้ามาติดตาม กด Like, Share, Comment และ ข้อสองคือ แฟนเพจจะต้องเป็นคนทำธุรกิจอย่างมีคุณภาพไม่ฉาบฉวย จึงมีงบประมาณและกล้าประมูลโฆษณาในราคาสูงเหนือคู่แข่ง

กล่าวโดยสรุปในหัวข้อนี้คือ Facebook อาจมีความตั้งใจที่จะคัดสรรให้เหลือแต่ผู้ลงโฆษณาจำนวนน้อย แต่มีคุณภาพสูง และจ่ายค่าโฆษณาในราคาแพง เพื่อรักษาหน้า Newsfeed ให้สวยสะอาดตา และมีคุณภาพ อันจะดึงดูดผู้ใช้งานให้กลับเข้ามา อยู่นาน ๆ และนำพาผู้ใช้งานใหม่ ๆ เข้ามาใช้ Facebook เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และตราบใดที่ Facebook เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด อย่างไรเสีย เจ้าของธุรกิจ ก็จะต้องกลับมาใช้บริการโฆษณาของ Facebook อยู่วันยังค่ำ เพราะแพลทฟอร์มอื่นก็ไม่มีคนมากเท่านี้อีกแล้ว

การย้ายไปใช้แพลทฟอร์มอื่นแก้ปัญหาได้จริงหรือ?

Facebook ปรับปรุง Algorithm ทุกปี และทุกปีนักการตลาดออนไลน์ และคนขายของบนโซเชียลเน็ตเวิร์คแทบทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า “เปลี่ยนไปใช้ช่องทางอื่นเถอะว่ะ!” แต่… ก็แทบไม่มีใครเปลี่ยนและดูเหมือนส่วนใหญ่จะยังใช้กันอยู่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

แพลทฟอร์มอื่นมีอะไรบ้าง?

หลัก ๆ ได้แก่ Website, Youtube, Line@, Instagram, Twitter, LinkedIn ฯลฯ เป็นต้น

หากไม่นับ Website และ Youtube ตัวอื่น ๆ นับเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งหมด มีระบบโฆษณาทั้งหมด แต่บางอย่างจำนวนคนใช้งานที่ตรงกลุ่มเป้าหมายไม่เท่า Facebook บางอย่างระบบโฆษณาไม่ดีพอ บางอย่างดึงคนเข้ามาใช้งานด้วยตัวเองไม่ได้ ส่วนใหญ่ยังต้องอาศัย Facebook เป็นแม่สื่อในการส่งคนเข้ามาติดตาม ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือ Line@ ปัจจุบันนี้ยังใช้วิธีโพสต์เนื้อหาลง Facebook แล้วแนบลิงค์ Line@ ไว้ด้านล่างเพื่อให้คนมากดเข้าไปติดตาม

ส่วน Website และ Youtube หากไม่ใช้ Facebook ก็ต้องรอให้ติด Google search engine บางครั้งติดและค้นหาเจอได้ภายใน 1 เดือน และบางครั้งก็ใช้เวลาหลายเดือนกว่าคนจะเข้ามาเจอ หากจะให้เร็วก็ต้องไปโพสต์ใน Facebook อยู่ดี

ส่วน Twitter และ LinkedIn ไม่ต้องพูดถึง แม้แต่ต่างประเทศใช้มากกว่าเราก็ยังไม่ประสบผลลัพธ์ในเรื่องของการสร้างยอดขายจากโฆษณาของสองแพลทฟอร์มนี้

สรุปควรย้ายหรือไม่ย้าย?

ผมแนะนำว่าควรสร้างฐานผู้ไว้ยังแพลทฟอร์มอื่น ๆ ด้วย แต่ไม่ได้ถึงกับต้องตัดขาดจาก Facebook เพราะแพลทฟอร์มอื่นมีศักยภาพแตกต่างกันไป เป็นตัวตายตัวแทนกันไม่ได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการทำโฆษณา ณ เวลานี้และหลายปีจากนี้ Facebook ยังคงเป็นที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น…

Instagram เป็นที่หนึ่งสำหรับโซเชี่ยลเพื่อการแชร์รูปภาพ แต่หากจะขายของ รูปคุณต้องเจ๋ง และคุณต้องเซเลปจริง ๆ โพสต์ข้อความยาว ๆ ไม่เหมาะ และใส่ลิงค์ในแต่ละโพสต์ไม่ได้

Line@ ถือเป็นสุดยอดในการประกาศโปรโมชั่นขายสินค้าและบริการเป็นระยะ ๆ ประกาศทีหนึ่งยอดขายมาเต็มจริง ๆ แต่หากจะขายของทุกวันและขายรัว ๆ คนก็ Block เอาได้ง่าย ๆ หรือจะสร้าง Brand awareness ก็ไม่ค่อยเหมาะ

Website อันนี้คือสิ่งที่ทุกคนควรมี เพราะเป็นแพลทฟอร์มการทำธุรกิจออนไลน์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด คุณสามารถติดตั้งระบบ Shopping cart ได้ สามารถทำ SEO เพื่อให้ติด Search engine ได้ สามารถใช้ทำ Re-targeting ร่วมกับ Google AdWord และ Facebook Ads ได้ แต่การจะทำให้เว็บไซต์เข้าถึงคนได้เร็วก็ไม่พ้นการนำมาแชร์ใน Facebook

ฉะนั้นคุณควรมีช่องทางหลัก ๆ อย่างน้อย 3 ช่องทาง หนึ่งในนั้นคือ Website และ Facebook page ส่วนอีกช่องทางจะเป็น Line@, Twitter หรือ Instagram ก็แล้วแต่ว่าโมเดลธุรกิจของคุณเหมาะกับเครื่องมือตัวไหน

สร้างแบรนด์ด้วย Value Content

หัวใจสำคัญของการตลาดออนไลน์คือ Content หรือ เนื้อหา ดังวลีอมตะของฝรั่งบอกว่า Content is King! – ศาสตร์การตลาดออนไลน์จะมี Niche ย่อยอันหนึ่งเรียกว่า Content marketing เป็นวิธีสร้างการรับรู้ด้วยเนื้อหา ได้แก่ บทความในเว็บไซต์ รูปภาพ อินโฟกราฟฟิค วีดีโอคลิป ฯลฯ เพื่อดึงดูดผู้สนใจมายังแหล่งกำเนิดของเนื้อหา เกิดการติดตาม นับถือ และบอกต่อ เพื่อที่วันหนึ่งคุณจะสามารถงัดสินค้าและบริการออกมาขายคนเหล่านั้น ซึ่งจะซื้อได้ง่ายขึ้นเพราะเขาเชื่อถือคุณผ่าน Value content

ย้อนไปสมัยก่อน Facebook จะมีประเด็น

ในอดีตคนขายของออนไลน์ และนักการตลาดออนไลน์อาศัย SEO หรือ Search Engine Optimization ในการทำให้บทความหรือหน้าขายสินค้าติดอันดับต้น ๆ บน Google search engine เพื่อคนจะได้มาเห็นแล้วเขาไปยังเว็บไซต์ต่อไป

ต่อมานักการตลาดได้ค้นพบวิธีการจัดอันดับการค้นหาของ Google และพยายามใช้ช่องว่างของระบบ Google ในการแทรกแซงอันดับของเขาอีกที ทำให้หน้าแรกของ Google เต็มไปด้วยบทความ Spam ที่ไม่มีประโยชน์กับผู้อ่านจริงๆ – Google จึงได้พัฒนา Algorithm ให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนแทรกแซงอันดับได้ยาก ใครอยากทำอันดับจำเป็นต้องมีเนื้อหาคุณภาพสูงจริง ๆ มี Keyword ที่เกี่ยวข้องในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไปจน และมี Backlinks ธรรมชาติจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เป็นเครื่องรับรองคุณภาพของบทความตามปรัชญาของ Google ว่า

Google’s mission is to organize the world’s information and make it universally accessible and useful.

หลักการเดียวกันนี้มีความคล้ายกับ Facebook ในมุมของการป้อนเนื้อหาที่มีประโยชน์ เกี่ยวข้อง และตรงความต้องการของผู้ใช้งาน โดย Facebook ได้แจ้งข่าวการปรับ Algorithm ก็เพื่อผู้ใช้งานโดยจะนำเอาเรื่องราวของ เพื่อนแลครอบครัวมาก่อน นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นให้โซเชียลเน็คเวิร์คนี้เป็นพื้นที่ ๆ คนมีความชอบคล้าย ๆ กันมาเชื่อมต่อกัน โดยคีย์เวิร์ดที่แตกต่างจาก Google เล็กน้อยคือ

Google ใช้คำว่า Information + Useful หรือ ข้อมูลและประโยชน์

Facebook ใช้คำว่า Story + Meaningful หรือ เรื่องราวและความหมายอันทรงคุณค่า

ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ต้องสื่อสารผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Content หรือ เนื้อหา โดยเนื้อหาที่มีประโยชน์และทรงคุณค่า มีชื่อเรียกเดียวกันว่า Value Content

หลักคิดและวิธีสร้าง Value content อยู่ใน บทความนี้ ครับ


ประกาศจาก Blog ของ Facebook ว่าด้วยการให้ความสำคัญแก่ เพื่อนและครอบครัว และการเป็น Platform for all ideas เพื่อให้ทุกคนมาแบ่งปันข้อมูลที่เติมเต็มคุณภาพชีวิต

Slide1

Slide2


ใช้โฆษณา Facebook ขั้นลึกเพื่อทำการตลาด

จากหัวข้อ Value content ที่กล่าวมา ทั้ง Google และ Facebook มีเป้าหมายเดียวกันคือเป็นผู้ส่งมอบ เนื้อหาที่ผู้ใช้งานสนใจ มีประโยชน์ และมีคุณค่าแก่พวกเขา ในกรณี Facebook หากเจ้าของแฟนเพจไม่ได้มีเนื้อหาที่น่าสนใจหรือให้คุณค่า มุ่งเน้นการโพสต์ขายสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่ดึงดูดให้ ผู้ใช้งานเข้ามาติดตาม หรืออาจถึงขั้น Take-negative-action ได้แก่ Hide post หรือ Report ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ Facebook ใช้ในการลดและระงับการ Reach ของแฟนเพจของคุณเช่นกัน

แต่โจทย์ต่อมาก็คือ เมื่อคุณเริ่มสร้าง Value content แล้วแต่คนก็ยังไม่เห็นอยู่ดีแล้วจะมีประโยชน์อะไร?… เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้สองกรณีคือ

กรณีที่หนึ่ง: เพจใหม่ คนติดตามน้อย สร้าง Value content ไปก็ไม่มีใครเห็น เมื่อไม่มีใครเห็นก็ไม่มีการกด Like, Share, Comment เพื่อนของเพื่อนก็ไม่มีโอกาสเห็น

กรณีที่สอง: เพจเก่าแต่เพิ่งเริ่มสร้าง Value content ก็จะประสบปัญหาเดียวกันกับกรณีแรก

การจะทำให้คนเริ่มเข้ามาติดตามมากขึ้น ๆ ต้องอาศัยแรงสะสมที่เรียกว่า Snowball effect เปรียบกับ ลูกหิมะก้อนเล็ก ๆ ที่ค่อยกลิ้งไปเรื่อย ๆ การขยายตัวเป็นไปอย่างช้า ๆ หรือจะเรียกว่าอืดมาก แต่เมื่อลูกเริ่มใหญ่มากขึ้น มันจะสามารถกวาดเอาหิมะมารวมกับตัวเองได้คราวละมาก ๆ ทำให้การขยายตัวในช่วงหลัง ๆ โตเร็วอย่างเห็นได้ชัด – การเติบโตของแฟนเพจก็เหมือนกัน ช่วง Like หลักสิบหลักร้อยแทบมองไม่เห็นอนาคตที่มันจะโต แต่พอไปหลักหมื่นหลักแสน Organic Like จะเข้ามาเพียบ ยิ่งทำ Value content โดน ๆ นี่ Like ไหลเข้ามาถล่มทลายกันเลยทีเดียวครับ

Facebook Ads ยังคงเป็นเครื่องมือโฆษณาที่ดีที่สุด

ดีกว่าโฆษณาแบบดั้งเดิม อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ป้ายแบนเนอร์เว็บไซต์ อย่างเทียบกันไม่ติด เพราะ Facebook ads วัดผลแบบ Real time ได้อย่างละเอียด และฐานข้อมูลผู้ใช้งานของ Facebook ละเอียดยิบถึงขั้นว่า Facebook รู้จักตัวคุณดีกว่าคุณรู้จักตัวเอง

เพราะข้อมูลตั้งแต่ เพศ อายุ การศึกษา หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ ที่อยู่อาศัย สถานที่ชอบไป อาหารที่ชอบกิน ไลฟ์สไตล์ที่ชอบ และอะไรที่ไม่ชอบ ในชีวิตของคุณ Facebook เก็บข้อมูลไว้ทั้งหมดผ่านกิจกรรมที่คุณ Engage ลงบน Facebook ตลอดหลายปีที่ผ่านมา! เหล่านี้ช่วยให้ Advertiser นำไปใช้ตั้งค่าการยิงโฆษณาได้ตรงกลุ่ม

ที่ผ่านมาการยิงโฆษณา Facebook ขั้นพื้นฐานคือยิงไปหา Interest group ซึ่งเจ้าของแฟนเพจสามารถเลือก อายุ, เพศ, ที่อยู่อาศัย, การศึกษา, อาชีพ, และความสนใจ (Interest) ซึ่งแบ่งออกเป็นหลาย Category อาทิ Business, Fitness, Shopping ฯลฯ และยังเจาะลึกลงไปยัง Niche ย่อย ๆ ของแต่ละ Category

ทั้งนี้การยิงโฆษณาแบบ Interest group ดังกล่าวก็ยังนับว่ากว้างมาก ๆ ทำให้การเข้าถึงอาจจะเป็นการหว่านแห ดังนั้น Facebook จึงได้พัฒนาเครื่องมือยิงโฆษณาตัวใหม่ออกมาอีก 3 ชนิดจากในบรรดาหลาย ๆ ชนิด แต่บทความนี้ขอพูดแต่ 3 ตัวนี้ครับ ได้แก่…

  • Website Custom Audience
  • Email Custom Audience
  • Look Alike Audience

Website Custom Audience คืออะไร

คือการยิงโฆษณาไปหาคนที่เยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ โดยใช้สมมุติฐานว่า เพราะกลุ่มนี้มีความสนใจมากพอที่จะคลิ๊กออกจาก Facebook ไปยังเว็บไซต์ของคุณ ได้เห็นเนื้อหาที่เขาสนใจจากคุณ ได้เห็นสินค้าและบริการที่คุณขาย (แต่ยังไม่สั่งซื้อ) จึงอุปมาว่า การรับรู้ หรือ Awareness เกิดขึ้นแล้ว การยิงไปหาคนกลุ่มนี้เปรียบกับการเตือนความจำว่า “คุณเห็นสินค้าและบริการของฉันแล้วนะ ยังสนใจสั่งซื้ออยู่ไหม?.. ถ้าสนใจก็คลิ๊กเลย!”

การขายสินค้าและบริการให้คนที่รู้จักคุณแล้วเกิดขึ้นง่ายกว่าคนที่ไม่เคยรู้จักคุณมาก่อนแล้วจู่ ๆ ก็ถูกบุกเข้ามาเสนอขายสินค้า เป็นธรรมชาติพื้นฐานของคนมาทุกยุคทุกสมัยว่า คนเลือกซื้อของจากคนที่เขารู้จักและไว้ใจนั่นเอง

การทำงานของ Website Custom Audience

การทำ Website Custom Audience จะต้องมีเว็บไซต์ก่อน จากนั้นเขียนเนื้อหาจะเป็น Value content หรือ Sales content ก็ได้ แต่ผมแนะนำให้ทำเป็นชุดบทความ Value content ก่อนเพื่อสร้างการรับรู้และเชื่อใจ

จากนั้นก็ใช้ฟังชั่น Website Custom Audience ที่อยู่ใน Facebook เพื่อสร้างแคมเปญ และนำ Facebook tracking pixels ของแคมเปญนั้น ๆ ไปแปะไว้ในแต่ละบทความที่คุณกำหนด

เมื่อคุณนำบทความไปเผยแพร่ จะโดยยิงโฆษณาร่วมด้วย และเกิดการแชร์ต่อ ๆ กันเป็นจำนวนมาก Tracking pixels จะสะสมลงในแคมเปญนั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง อาทิ สะสมได้ 1-2 หมื่นหน่วย ก็ถึงเวลาที่คุณจะยิงโฆษณาขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง โดยชี้เป้าไปที่กลุ่มคนที่อยู่ในแคมเปญ Website Custom Audience นั้น ๆ ซึ่งล้วนเป็นคนที่รู้จัก สนใจ และชื่นชอบคุณอยู่แล้ว


เมนู Website Custom Audience อยู่ที่ไหน?

a) เข้าไปที่ Ad Manager ของคุณ www.facebook.com/ads/manager และคลิ๊กที่เมนูมุมซ้ายบน

CEOblog Facebook Custom Audience 01

b) เลือก Audiences และคลิ๊กเลย!

CEOblog Facebook Custom Audience 02

c) คุณจะเข้าสู่เมนูการจัดการ Audiences เลือก Create audience จากนั้นเลือก Custom Audience ตามรูป

CEOblog Facebook Custom Audience 04

เลือก Web Traffic คุณจะเข้าสู่กระบวนการสร้าง Website Custom Audiences ต่อไปครับ

CEOblog Facebook Custom Audience 05


ผลลัพธ์ของ Website Custom Audience

สมมุติแคมเปญของคุณเก็บผู้คนเข้า Tracking pixels ได้ 20,000 หน่วย ในจำนวนนี้กลายเป็นผู้ซื้อ 1% หรือ 200 คนที่กดสั่งซื้อภายในวันนั้น ๆ เลย โดยสินค้าชิ้นละ 1000 บาทคุณจะได้ยอดขายทันที 200,000 บาทภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยค่าโฆษณาอาจจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 4,000 บาท สาเหตุที่ค่าโฆษณาไม่สูงมากเพราะ มันไม่ได้ใช้งบในการ Reach หาคนเป็นล้าน ๆ คน แต่เพียงแค่ 20,000 คนเท่าที่ได้รับการจัดเก็บโดย Facebook tracking pixels ครับ

Email Custom Audience คืออะไร

หลักการทำงานจะคล้ายกับ Website Custom Audience เพียงแต่การยิงโฆษณาจะส่งไปหาคนที่อยู่ใน Email list โดยฟังชั่นนี้จะเชื่อมต่อกับระบบ Email list ของ Mailchimp

หมวดนี้จะอยู่ในหลักการตลาดในหัวข้อย่อยเรื่อง Email marketing โดยคุณจะต้องมีการทำการตลาดเพื่อให้คนมาลงทะเบียนสมัคร Email ของคุณก่อน โดยการกระตุ้นการสมัครเข้า Email list มีหลากหลายวิธี ที่นิยมคือการสัญญาว่าจะแจกของ แจก Ebook หรือแจกวีดีโอคลิปที่มีประโยชน์ส่งไปให้หลังจากสมัครแล้ว ซึ่งเครื่องมือการทำ Email marketing จะมีระบบ Auto-responder ซึ่งคุณไม่ต้องมานั่งส่งเองทีละคนครับ

จากนั้นเมื่อคุณสะสมคนเข้าไปใน Email list ถึงจุดหนึ่ง อาทิ 5,000 รายชื่อ คุณจะสามารถ Broadcast ข้อความไปหาคนเหล่านั้นโดยตรงเพื่อขายของ คู่กับการยิงโฆษณาแบบ Email custom audience เพื่อให้คนที่อยู่ใน Email list เห็นโฆษณาของคุณบน Facebook ได้เช่นกัน

Look Alike Audience คืออะไร

Look Alike Audience เป็นการเอากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในแคมเปญของ Website Custom Audience ไปควานหากลุ่มเป้าหมายที่มีความคล้ายกัน หรือน่าจะสนใจเรื่องเดียวกัน (Look Alike) ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศหรือทั่วโลก ก่อให้เกิดการแตกจำนวนผู้สนใจจากเดิมที่อยู่ใน Custom Audience ที่มีเพียง 10,000 หน่วย ขยายไปเป็น 100,000 – 1,000,000 หน่วยภายในไม่กี่นาที (แต่สองแคมเปญนี้แยกกันนะครับ)

การยิงโฆษณาไปหา Look Alike Audience นั้นเขาจะเห็นคูรเป็นครั้งแรกเช่นกัน ดังนั้นการวางแผนการตลาดที่ดีคือ อย่าเพิ่งเริ่มต้นด้วยการขาย แต่เริ่มด้วยการให้ Value content เดียวกันแก่กลุ่ม Look Alike และเมื่อเขาคลิ๊กเข้ามาชม Content เขาจะถูกเก็บเข้า Tracking Pixels ของ Custom Audience หลักอีกทีหนึ่ง

ฉะนั้นเป้าหมายหลักของคุณคือการทำให้ Pixels ใน Website Custom Audience เติบโตให้มากที่สุดเพื่อคุณจะได้ยิงโฆษณาไปยังคนที่มีความเป็น Potential buyer สูงที่สุดครับ

เจาะลึกวิธีทำ Custom Audience และ Look Alike

หากคุณพร้อมจะลุยกับเครื่องมือสองตัวนี้ ผมมีบทความเจาะลึกวิธีทำแบบ Step by Step ที่นี่ครับ